“บีซีพีจี” มั่นใจ พร้อมขายไฟฟ้าจากลาวไปเวียดนาม ก.ย.นี้

นิวัติ อดิเรก
นิวัติ อดิเรก

บีซีพีจี เผย 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ก่อสร้าง 90% แล้วเตรียมขายไฟไปยังเวียดนาม ก.ย.นี้ พร้อมบริหารจัดการเปลี่ยนหนี้คงค้างกับการไฟฟ้า สปป.ลาว (EDL) ให้เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้แทน ได้ประโยชน์ทั้งการรับชำระเงินที่เร็วขึ้นและสร้างรายได้ให้บริษัทในอนาคต

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการระบบสายส่งไฟฟ้า Nam Tai ขนาด 220 กิโลโวลต์
ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Vietnam Electricity-EVN) มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทใน สปป.ลาว ทั้ง 2 แห่ง คือ Nam San 3 A และ Nam San 3B ไปขายยังเวียดนามได้ในเดือนกันยายนนี้

“สายส่ง Nam Tai จะเชื่อมต่อระหว่างทางเหนือของลาวไปยังชายแดนทางเหนือของเวียดนาม โดยสายส่งเส้นนี้สามารถรองรับการจำหน่ายไฟฟ้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว ไปยังเวียดนามได้ถึง 800 เมกะวัตต์ โดยในระยะแรกสายส่งจะให้บริการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบีซีพีจีทั้ง 2 แห่ง กำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์ก่อน

เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีความพร้อมเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม และระยะถัดไปก็จะเริ่มให้บริการกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในบริเวณใกล้เคียง ใน สปป.ลาวที่อยู่ตามแนวสายส่งเส้นนี้ โดยปัจจุบันหลายแห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งมีทั้งที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ” นายนิวัติกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทโดยบริษัท บีซีพีจี อินโดไชน่า จำกัด ได้ลงทุนในสายส่ง Nam Tai โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Nam Tai Power Sole จำกัด (Nam Tai) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับหนี้การค้าที่บริษัทมีคงค้างกับการไฟฟ้า สปป.ลาว บริษัทมีแนวทางที่จะเปลี่ยนหนี้ที่คงค้างให้เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้แทน ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งการรับชำระเงินที่เร็วขึ้นและสร้างรายได้ให้บริษัทในอนาคต

“ปัจจุบันบริษัทได้บรรลุข้อตกลงในการใช้หนี้ค้างชำระเดิมจำนวนหนึ่ง ชำระเป็นเงินลงทุนในสายส่ง Nam Tai ข้างต้นแล้ว ในส่วนของหนี้คงค้างจำนวนที่เหลือ บริษัทมีเป้าหมายจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันคือแปลงหนี้ที่คงค้างให้เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้แทน” นายนิวัติกล่าว