การลงทุนชะงักข้ามปี ปั๊ม 12 อุตสาหกรรม สร้างโอกาสใหม่

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

 

ในงานสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” จัดโดย หนังสือพิมพ์มติชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังเริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งแม้จะยังเห็นการลงทุนอยู่แต่จะเป็นการลงทุนของโครงการที่จำเป็นเท่านั้นซึ่งมีสัดส่วนถึง 50% โครงการใดที่ยังไม่จำเป็นจะชะลอออกไปเป็นปี 2566

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลงทุนชะงัก มาจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง กว่า 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้เอกชนชะลอการสั่งซื้อเครื่องจักร และการลงทุนต่าง ๆ ขณะเดียวกันปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าจะจบลง เป็นแรงกดดันทำให้ภาคการส่งออกและกำลังซื้อของทั้งโลกลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง

VUCA ฉุดอุตสาหกรรม

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทุกด้าน ในภาคอุตสาหกรรมเองจะพบกับ 4 เหตุการณ์ที่เรียกว่า “VUCA” คือ 1.ความผันผวน (volatility) เกิดดิจิทัลดิสรัปต์ที่ทุกอุตสาหกรรมโดนทั้งหมด ภาคอุตสาหกรรมต้องหนีตายและจำเป็นต้องปรับตัว (transformation) เป็น 4.0 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.0-2.5 เท่านั้น 2.ความไม่แน่นอน (uncertainty) เกิดเทรดวอร์สงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา ทำให้มีสินค้าบางตัวที่ถูกกีดกันทางการค้า เกิดทั้งผลบวกและลบ เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใหม่ทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย

3.ความซับซ้อน (complexity) เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 มีเพียงภาคการส่งออกเท่านั้นที่รอด ซึ่งนั่นมาจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ GDP ปี’64 โต 1.6% จากที่ติดลบ 6% ในปี 2563 และ 4.ความคลุมเครือ (ambiguity) เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบวัตถุดิบทำให้เกิดซัพพลายดิสรัปต์ ทั้งชิป ปุ๋ยเคมี อาหาร จึงคาดการณ์ได้ว่าสินปี 2565 นี้ทั่วโลกจะขาดแคลนอาหารแน่นอน

“คนที่มีแผนการลงทุนเก่าอยู่แล้วลงไปครึ่ง ๆ กลาง ๆ เขาก็จะลงให้มันจบ แต่เราจะไม่เห็นการลงทุนใหม่ ๆ เพราะเขาจะไปดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จนกว่าสถานการณ์จะนิ่ง ยกเว้นการส่งออกอาหารที่ยังโตต่อเนื่อง”

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

สำหรับอุตสาหกรรมที่น่ากังวลคือ ยานยนต์ที่ยอดขายลดลงเล็กน้อยด้วยเพราะราคาน้ำมันแพง แต่ที่น่าห่วงและกังวลมากคือ อุตสาหกรรมที่ผลิตและขายในประเทศ เพราะจะต้องเผชิญกับ 2 เรื่องใหญ่อย่างค่าเงินบาท ทำให้ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้น และต้องผลิตสินค้าจำหน่ายให้กับคนในประเทศที่กำลังซื้อไม่มี

ผนึก ส.อ.ท.ปั๊มลงทุน

ซึ่งภายในงานครั้งนี้ ประธาน ส.อ.ท.ยังได้ให้แนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและรอดจากวิกฤตครั้งนี้ โดยจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ด้วยการดึงสมาชิกทั่วประเทศ 14,000 บริษัท รวม SMEs รวมเป็นทีมเดียวกัน เชื่อมโยงการทำงานกับภาครัฐ ทำงานกับเอกชนด้วยกันเอง เชื่อมโยงกับต่างประเทศ และแน่นอนว่าทั้งหมดจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันต้องใช้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เป็นตัวเร่ง และนำนโยบาย BCG เป็นโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการ transformation อุตสาหกรรมให้เป็น 4.0

“เรามี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรม มี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) มีนโยบาย BCG มีเรื่อง climate change ทั้งหมดนี้เราจะมุ่งไปเป้าเดียวกันให้มันคือทางรอดของภาคอุตสาหกรรม เราจะดึงโครงการ SAI (การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ : Smart Agriculture Industry) หรือ SAI In The City มาเป็นตัวขับเคลื่อน”

อุตฯดาวรุ่ง-เสี่ยงสูง

อุตสาหกรรม S-curve อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งไทยมีกำลังการผลิตถึง 3 ล้านคัน/ปี มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นเทรนด์โลก ไทยจำเป็นต้องเร่งให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของ EV ก่อนที่จะเสียโอกาสและตลาดให้กับอินโดนีเซีย เพราะมีวัตถุดิบมีแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นส่วนสำหรับในการผลิตแบตเตอรี่ ดังนั้นแล้วไทยเองเมื่อมีโอกาสมีดีมานด์ (ยอดจอง) ที่สูงถึง 10,000 คัน/ปี มากกว่าอินโดนีเซียที่มียอดจองเพียง 1,000 คัน/ปีเท่านั้น ดังนั้นไทยต้องเร่งให้เร็ว

นอกจากนี้ ไทยต้องไม่หยุดการพัฒนาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลก แต่ไทยเองผลิตหลัก ๆ คือ ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนมันไปไกลเป็นขั้นสูงหมดแล้ว ไทยต้องไม่เสียโอกาสและช้าไปคู่แข่ง รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเช่นกัน จำเป็นต้องได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นซึ่งอาจต้องใช้เรื่องของอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพมาเป็นตัวดึงดูด จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตแบบมีคุณภาพได้มาก

ขณะที่อุตสาหกรรมการเกษตร จำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ไปสู่อาหารแห่งอนาคต ใช้เรื่องของ BCG มาเป็นตัวนำ เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจรมาผลิตเป็นยา ขยายไปสู่เครื่องสำอาง อาหารเพื่อสุขภาพ ใช้งานวิจัยเข้ามาช่วย เช่น การดึงเอาเส้นใยกัญชง กัญชาขยายต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ การดึงเอาเปลือกมังคุดที่สะกัดเป็นสารตั้งต้นเพื่อทำเป็นยา หรือการนำเอาสารที่สกัดตากเห็ดมาผลิตเป็นเครื่องหนัง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การแพทย์ ชีวภาพ หุ่นยนต์ การบิน ดิจิทัล มีแนวโน้มการลงทุนที่สูงขึ้น และต้องผลักดันให้ความช่วยเหลือรายเล็ก SMEs ไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือแนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง