จับคู่ค้า “ไทย-ซาอุฯ” ฟื้นเศรษฐกิจ ปลุกตลาด 2.3 แสนล้าน

จับตา MOU ส่งออกแรงงานไทย-ซาอุ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ภาพจาก pexels

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับงาน “Thai-Saudi Business Forum” ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อสานต่อภารกิจหลังการเยือนซาอุดีอาระเบีย ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นปี ฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 32 ปี ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการค้า การลงทุน หากดูมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียปี 2564 มีมูลค่ารวมกันถึง 234,000 ล้านบาท ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 51,000 ล้านบาท ในปีก่อน และยังนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบจากซาอุฯจำนวนมาก

เปิดประตูการค้า GCC

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียถึง 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3% และตั้งเป้าว่าปีนี้ไทยจะส่งออกถึง 56,000 ล้านบาท และซาอุดีอาระเบียสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนและประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออกได้ และยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จากไทย

ซึ่งมีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับ 18 ประเทศ จำนวน 14 ฉบับ ส่วนไทยก็สามารถใช้ซาอุดีอาระเบียเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC : Gulf Cooperation Council) ซึ่งในโอกาสนี้ไทยยังได้เจรจานำเข้าปุ๋ยซาอุฯ 1 ล้านตัน

สำหรับการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง สินค้าส่งออกหลักไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 3.ผลิตภัณฑ์ยาง 4.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ 5.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.น้ำมันดิบ 2.เคมีภัณฑ์ 3.ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4.น้ำมันสำเร็จรูป และ 5.สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

จับคู่ค้า ‘ไทย-ซาอุ

หอการค้าไทย-ริยาด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าริยาดได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหอการค้าไทย และภาคเอกชน 12 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ

“การจับคู่ธุรกิจ (business matching) ครั้งนี้ เอกชนจากหอการค้าริยาด จำนวน 70 บริษัท และเอกชนไทยกว่า 200 บริษัท จะมีทั้งธุรกิจสาขาต่าง ๆ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ท่องเที่ยวและโรงแรม สิ่งทอ (เสื้อผ้า/แฟชั่น) สุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เทคโนโลยีและสารสนเทศ R&D โลจิสติกส์ เครื่องมืออุตสาหกรรม อุปกรณ์การเกษตร ทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม ด้านกฎหมาย ด้านพลังงานและเหมืองแร่ มั่นใจว่าจะเป็นโอกาสลงทุนระหว่างกัน”

Mr.Krayem S. Alenezi, Member the Board of Directors of the Riyadh Chamber ผู้นำคณะนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนและขยายการค้า การลงทุน ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมลดการพึ่งพาน้ำมัน และซาอุดีอาระเบียยังมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับจิกะโปรเจ็กต์เชื่อมโยงเข้ากับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไทย

พร้อมทั้งยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์คาดว่าจะเกิดการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทโดยเฉพาะการส่งออกปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรของฝ่ายซาอุฯ ปลดล็อกอุปสรรคและหาแนวทางผ่อนปรนมาตรการในด้านการส่งออก-นำเข้าในสินค้า เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งฝ่ายซาอุฯได้แสดงความสนใจระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล รวมถึงระบบการจัดการห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทุนไทยจ่อขยายลงทุน

นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ได้ลงนามความร่วมมือกับ NAQUA บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพันธุ์กุ้งร่วมกัน เนื่องจากพันธุ์กุ้งของ NAQUA มีความพิเศษในเรื่องของความทนทานต่อโรค แต่มีข้อด้อยในเรื่องการโตช้า ในขณะที่พันธุ์กุ้งของซีพีเอฟ มีจุดเด่นในเรื่องเจริญเติบโตไว จึงเกิดความร่วมมือพันธุ์กุ้งระหว่างกัน จากก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟได้มีการขยายการส่งออกไก่ไปซาอุดีอาระเบียแล้ว

นายสามารถ บุญธราทิพย์ ประธานกรรมการ บริษัท โปลิเคม อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือขยายการลงทุนในธุรกิจศูนย์ดูแลรักษารถยนต์ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษารถยนต์ สวนทางกับปริมาณรถยนต์ และซูเปอร์คาร์ที่มีเป็นจำนวนมาก บริษัทมีความเชี่ยวชาญ 40 ปี มีสาขาในไทยมากกว่า 70 แห่ง เบื้องต้นจะไปลงทุน 16 แห่งภายใน 2 ปี ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 80 ล้านบาท และอนาคตจะขยายสาขาให้ครอบคลุมภูมิภาคตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ บริษัทยังมองถึงโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจด้านอื่น ๆ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร และสถานบริการด้านความงาม ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เพราะมีการเปิดเสรีให้กับผู้หญิงออกจากบ้าน และสามารถทำงานนอกบ้านได้มากขึ้น และทางซาอุฯต้องการให้ธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่

ไทยฐานผลิตอาหารซาอุฯ

นายวสุ เซ็นสม นายกสมาคมนักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) กล่าวว่า สมาคมจะเป็นตัวเชื่อมผู้ประกอบการซาอุฯมาไทย และธุรกิจ SMEs ไทยไปอาหรับ ล่าสุดได้พานักลงทุนไปดูการลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต่อไปจะสร้างงานให้ท้องถิ่น 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตร อาทิ ทั้งทุเรียนกวน กล้วย มะม่วงแปรรูป

วสุ เซ็นสม
วสุ เซ็นสม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซาอุฯมาลงทุนโรงงานผลิตไก่แปรรูปตามมาตรฐานฮาลาล ตามหลักการอิสลามที่ตลาดซาอุฯต้องการ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา เป็นการร่วมทุนที่ จ.นครนายก นอกจากเกษตรแล้วยังมีสัญญาณการลงทุนการแพทย์ การศึกษา แรงงาน การท่องเที่ยว โดยสิ้นเดือนนี้จะพาผู้ประกอบการ 40-50 ราย ไปออกบูทและเพื่อขยายช่องทางลงทุนกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ สมาคมจะประสานการดูแลนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาลมีกำลังจ่ายสูงมาก สามารถกระจายรายได้ทั้งการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง

“การฟื้นสัมพันธ์ครั้งนี้เเค่ระยะเเรกจะนำเงินเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน และจะเป็นโอกาสของไทยอีกมหาศาล มากไปกว่านั้น มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่จะเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ จะยิ่งเป็นการดึงดูดชาวอาหรับให้เข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในไทยเพิ่ม”