ส่งออกทูน่าไทยพุ่ง 8.5 หมื่นล้าน ส้มหล่นมะกันผวาเงินเฟ้อ

ปลาทูน่า

 

อเมริกันผวา “เงินเฟ้อ” สูงสุดรอบ 40 ปี รัดเข็มขัดจับจ่าย ดันยอดส่งออกทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง 8.5 หมื่นล้าน โรงงานปลากระป๋องสุดอั้นยื่นขอพาณิชย์ปรับราคา 2 บาท/กระป๋อง เหตุต้นทุนเหล็กกระป๋อง-ราคาทูน่า-ค่าขนส่งพุ่งระนาว

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมคาดว่าปีนี้ยอดขายปลาทูน่ากระป๋องจะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยปี 2565 จะเติบโต 20% มูลค่า 85,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ 70,000 ล้านบาท

จากแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังเติบโตต่อเนื่องหลังวิกฤตเงินเฟ้อในสหรัฐที่เริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนอเมริกันลดการจับจ่าย ลดการเดินทาง และการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่หันมาซื้อสินค้าทูน่า

เพราะเป็นโปรตีนที่มีราคาถูกกว่าสินค้าหมู ไก่ ทั้งยังสามารถรับประทานสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในการประกอบอาหาร จนทำให้สินค้าไทยในตลาดสหรัฐเติบโตสูงขึ้นถึง 50%

สวนทางกับสินค้าอาหารกลุ่มอื่น ๆ และล่าสุดสหรัฐประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 9.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส่งออกเติบโตต่อเนื่อง

ส่วนตลาดอียูปีนี้ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะสินค้าไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 24% อียูหันไปซื้อทูน่าจากฟิลิปปินส์ และเอกวาดอร์ ที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากอียู ส่วนตลาดตะวันออกกลางยังมีคำสั่งซื้อเติบโตดี

“ตลาดในประเทศยังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ คล้ายตลาดสหรัฐ ประชาชนประหยัดการจับจ่าย มีการซื้อทูน่ากระป๋องมากขึ้นเช่นกัน เพราะราคาอาหารเนื้อ หมู ไก่ สินค้าปศุสัตว์แพงกว่า หากเทียบกับปลาทูน่า ซึ่งให้สารอาหารเช่นกัน ซึ่งตลาดนี้จะเติบโตขึ้นเมื่อรวมกับส่งออกจะทำให้ภาพรวมปีนี้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้าน”

“แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ไตรมาส 4 คาดว่าทั้งภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานสงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะผ่อนคลายลง ไม่น่าจะเลวร้ายไปมากกว่านี้ ส่วนมาตรการรัฐบาลที่พยายามช่วยเหลือค่าครองชีพทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล มีความเหมาะสมดี ราคาพลังงานสะท้อนไปทั่วโลก ภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่แล้ว”
อย่างไรก็ตามในเร็ว ๆ นี้ สมาคมเตรียมยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดการขอปรับราคาจาก 18 บาทเป็น 20 บาท


“สินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าที่ยื่นขอปรับราคาช้าที่สุด และการปรับราคาระดับนี้ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น เป็นการปรับที่สะท้อนต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง ทั้งราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนเหล็กแผ่นสำหรับผลิตกระป๋องปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ปี อีกทั้งวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาปลาทูน่าปรับขึ้น 20% เฉลี่ยที่ 1,500-1,600 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากต้นทุนน้ำมันของเรือประมงจับปลาสูงขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่าลง”