เงินเฟ้อสหรัฐยังพุ่งต่อเนื่อง ตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1%

ภาพ : pixabay

เงินเฟ้อสหรัฐยังพุ่งต่อเนื่อง ตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 1% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังทำสถิติพุ่งสูงสุด 9.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 36.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาท เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 36.23/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/7) ที่ระดับ 36.30/33 บาท/ดอลลาร์สหัฐ อ่อนค่าลงหลังจากนักลงทุนซึมซับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงกว่าคาดในเดือน มิ.ย.

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 8.6% ในเดือน พ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.8% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงจากเดือน พ.ค.ที่พุ่งขึ้น 6.0% แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8%

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% หรืออาจแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book ในวันพุธ (13 ก.ค.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียงเล็กน้อยในช่วงกลางเดือน พ.ค.จนถึงกลางเดือน ก.ค. เนื่องจากการที่เฟดดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 20 ปีนั้น ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.25/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (14/7) ที่ระดับ 1.0059/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/7) ที่ระดับ 1.0009/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่า ซึ่งปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 8.6%

การอ่อนค่าของยูโรยิ่งเร่งปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจยูโรโซนที่เผชิญกับแนวโน้มถดถอย, การขาดแคลนก๊าซและราคาพลังงานที่ระดับสูง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0006-1.0062 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0025/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 137.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/7) ที่ระดับ 137.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยนายชิเงยูกิ โกโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นการประชุมคณะกรรมการรรับมือโรคโควิด-19 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัดในญี่ปุ่น และดูเหมือนว่าจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากส่วนต่างทางนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.34-139.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.ค. จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.75+/6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.75/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ