สมาร์ทโชห่วย พลัส กรมพัฒนาฯ ดึง 25 พันธมิตร เสริมแกร่งค้าส่ง-ค้าปลีกไทย

โชห่วย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมหารือพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน 25 หน่วยงาน วางกรอบพัฒนาโชห่วยทั้งระบบ เป้าหมายแรกผลักดันให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ผ่านโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส”

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนดำเนินโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบการค้าการลงทุนต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนให้พร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ธุรกิจเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบโดยตรง

ทศพล ทังสุบุตร
ทศพล ทังสุบุตร

ดังนั้น การสร้างฐานความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจจึงมีความจำเป็น รวมทั้งการใช้ดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรส่งเสริมพัฒนาธุรกิจทุกขนาดให้มีศักยภาพและพร้อมรับความท้าทายที่เกิดขึ้น

ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และภาคเอกชน 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย (1) ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers) (2) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี/ระบบ POS/แพลตฟอร์ม (3) ผู้ให้บริการเสริม (4) สถาบันการเงิน และ (5) เครือข่ายธุรกิจ Moc Biz Club รวมกว่า 25 หน่วยงาน ได้รวมพลังส่งเสริมผู้ประกอบการโชห่วยไทยให้แข่งขันได้ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เติบโต และอยู่คู่สังคมไทยอย่างมั่นคง

โดยร่วมกันวางกรอบการพัฒนาโชห่วยไทยทั้งระบบ พร้อมผลักดันโชห่วยไทยยืนหนึ่งบนเวทีค้าส่ง-ปลีกเคียงข้างผู้บริโภค เป้าหมายแรก คือ การผลักดันร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ผ่านโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส”

โครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” เป็นกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยที่ครอบคลุมหลายมิติเพื่อผลักดันให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ซึ่งมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ (1) การมีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี (2) มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า หรือ (3) มีช่องทางออนไลน์สำหรับให้บริการลูกค้า ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทโชห่วยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และร้านค้าสมาร์ทโชห่วยนี้จะเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าของคนในชุมชน อันจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมหลัก 2 ส่วน คือ (1) การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และ (2) การนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างสมาร์ทโชห่วย โดยดึงคุณสมบัติข้างต้นมาเป็นจุดเด่น เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทโชห่วยต้องดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อาศัยกลไกการทำงานร่วมกันทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ซึ่งจะมีร้านค้าส่งท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาจากกรม ภายใต้การดูแลของสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงโชห่วย” คอยให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยพัฒนาร้านค้าโชห่วยเครือข่ายให้เติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ช่วยติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และหน่วยงานพันธมิตร ประมาณ ต้นเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งการลงนาม MOU ฉบับนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อเริ่มต้นโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส

อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณว่ากรมพร้อมที่จะขยายเครือข่ายพันธมิตรที่มีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนโชห่วยในอนาคต โดยในปี 2565 กำหนดเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการโชวห่วยทั่วประเทศ 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 300 ราย และปี 2566 กำหนดแผนพัฒนาโชห่วยไทย มีเป้าหมายเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโชห่วยทั่วประเทศ 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 400 ราย เป็นการเสริมแกร่งธุรกิจโชห่วยให้อยู่คู่คนไทยตราบนานเท่านาน