น้ำนมดิบจ่อขึ้นราคา 2.25 บาท/กก. ชี้โฟร์โมสต์เลิกพาสเจอไรซ์แค่ปรับโมเดลธุรกิจ

นม

ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยยกทัพยื่นหนังสือถึง “รัฐมนตรีพาณิชย์” ผ่านกรมการค้าภายในขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบอีกกิโลละ 2.25 บาท/กก. อุ้มเกษตรกร 18,000 ครัวเรือน ต้นทุนพุ่ง 30% กรมการค้าภายในกัดฟันตรึงราคา ชี้หาก ครม.ไฟเขียวปรับพร้อมให้ขยับราคาตามต้นทุนแต่ละราย มั่นใจปมโฟร์โมสต์เลิกนมพาสเจอไรซ์แค่ปรับโมเดลธุรกิจชั่วคราว

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน รับหนังสือจากนายนัยฤทธิ์ จำเล ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมสมาชิกที่ขอความอนุเคราะห์ให้เร่งรัดขั้นตอนในการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบกิโลกรัมละ 2.25 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากกว่า 30% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา

นายนัยฤทธิ์กล่าวว่า ทางสหกรณ์ได้ยื่นหนังสือและร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ราคาน้ำนมดิบภายหลังจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้พิจารณาอนุมัติเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาน้ำนม กก. 2.25 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจำหน่ายน้ำนมดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 19.75 บาท

และเมื่อนำไปรวบรวมจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมฯ (กลางน้ำ) และส่งต่อไปยังโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมก็จะบวกเพิ่มอีก 1.50 บาท ซึ่งจะมีผลให้โรงงานต้องซื้อน้ำนมดิบในราคากิโลละ 20.50 บาท

“การปรับราคาครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของเกษตรกรที่ปรับขึ้นไปกว่า 40% ทั้งจากราคาอาหารข้นสำหรับเลี้ยงวัวที่มีส่วนผสมจากกากปาล์มน้ำมันและถั่วเหลืองนำเข้าที่มีราคาแพงต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเกษตรกรขอปรับขึ้นในราคากิโลกรัมละ 3 บาท แต่ทางมิลค์บอร์ดให้ 2.25 บาทเพราะพิจารณาตามต้นทุนแล้วเกษตรกรก็ยังได้กำไรอยู่กิโลกรัมละ 2 บาท โดยระหว่างนี้บอร์ดจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป”

นายนัยฤทธิ์กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นราคานมจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาลดจำนวนลงมากจาก 24,000 ครัวเรือน เหลือเพียง 18,000 ครัวเรือน ทำให้ผลผลิตนมที่ได้ลดลงจากวันละ 3,500 ตัน เหลือวันละ 3,000-3,200 ตันเท่านั้น เมื่อเกษตรกรหยุดเลี้ยงเกิดปัญหาซัพพลายตึงตัว วัตถุดิบเริ่มขาด หากปรับราคาก็จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าควบคุม โดยกรมจะดูแลทุกประเภท ทั้งนมพาสเจอไรซ์นมยูเอชที ยกเว้นนมเปรี้ยว ซึ่งขณะนี้ยังขอความร่วมมือในการตรึงราคาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม การที่มิลค์บอร์ดมีมติให้ขึ้นราคานมและเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ ทางกรมก็พร้อมที่จะพิจารณาปรับราคา โดยจะพิจารณาใช้หลักการวินวินทั้งผู้ผลิตเกษตรกรและประชาชนอยู่ร่วมกันได้ และไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน

“การพิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมจะต้องดูโครงสร้างต้นทุนว่าผลิตภัณฑ์นมนั้นใช้วัตถุดิบเป็นน้ำนมดิบ หรือนมผงจากการนำเข้า และเมื่อต้นทุนปรับขึ้น 2.25 บาทแล้วทางผู้ผลิตยังสามารถผลิตต่อไปได้โดยยังคงมีกำไรส่วนเหลื่อมคงเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะมีความแตกต่างกันก็ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป แต่สินค้านี้ถือว่าเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีผู้ผลิตหลายราย”

ตอบกรณีการปิดโรงงานนมบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนมโฟร์โมสต์ที่เลิกผลิตและทำตลาดนมพาสเจอไรซ์ในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายเรื่องการตรึงราคา อาจเป็นผลมาจากการปรับบิสซิเนสโมเดลของธุรกิจที่มองว่าผลิตภัณฑ์นมตัวไหนที่ไม่สามารถทำตลาดได้ก็ต้องหยุดผลิตเพียงชั่วคราว