ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ฝากความหวังเด็กไทย ให้ความสนใจโค้ดดิ้ง

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ร่วมทีมคุณหญิงกัลยา ขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง ของกระทรวงศึกษาธิการ แผนแรกเน้นสร้างความเข้าใจประชาชน ฝากความหวังเด็กไทย ถ้าไม่สนใจโค้ดดิ้ง ไทยจะแข่งประเทศอื่นไม่ได้ 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในงานแถลงข่าวก้าวสู่ปีที่ 4 ครูกัลยา “วางรากฐานการศึกษาไทย สมรรถนะไกลสู่สากล” ว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช มีนโยบายให้ความสำคัญกับทักษะ Coding (โค้ดดิ้ง) เป็นอย่างมาก เพราะโค้ดดิ้งคือทักษะทางด้านภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาทางเทคโนโลยี เป็นทักษะช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ประเทศไหนที่มีคนเก่งโค้ดดิ้งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นดีขึ้น

ยกตัวอย่าง ประเทศที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือเล็ก ๆ แต่มีราคาแพงหลายหมื่นบาท จะเห็นว่าเขาทำได้ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรไม่ได้มีมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ ถ้าดูจาก 50 บริษัททั่วโลก ใครจะเชื่อว่าวันนี้บริษัทสัญชาติเอเชียอย่าง Sumsung, Huawei ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อป 10 ของโลกได้ ซึ่งมันคือความไม่แน่นอน และคิดว่าประเทศไทยเราจะสามารถทำได้ในอนาคต 

วันนี้อาชีพดาวรุ่งในประเทศไทยที่หลายบริษัทต้องการตัวมากที่สุด และรายได้สูง ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, นักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญด้านดาต้า, ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น เป็นต้น จะเห็นว่าอาชีพที่กล่าวมาล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ใครที่มีความรู้ทางด้านภาษาคอมพิวเตอร์มีงานทำ มีโอกาสมากกว่าวิชาชีพอื่น ๆ แน่นอน 

ปีที่ผ่านมา coursera ผู้ให้บริการหลักสูตรออนไลน์แบบเปิดขนาดใหญ่ในสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลว่า ความสามารถในการทำธุรกิจของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 88 ของโลก, ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลอยู่อันดับ 65 ของโลก, ความสามารถในการจัดการเทคโนโลยีอยู่อันดับ 58 ของโลก อันดับดังกล่าวถือว่าไกลมาก ถ้าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะเป็นแต่ประเทศผู้ซื้อจากต่างประเทศตลอด ไม่ได้ผลิตเอง เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์ ก็ซื้อจากเกาหลี จีน อเมริกา ส่วนรถยนต์ก็ซื้อจากเยอรมนี เป็นต้น

“ผมคิดว่าประเทศอื่น ๆ ไม่ได้เก่งไปกว่าประเทศไทยเลย ทรัพยากร ก็ไม่ได้เยอะ แต่เขาพัฒนาไปไกลเพราะมีคนเก่ง ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับเด็กไทย ถ้าวันนี้เด็กไทยไม่สนใจโค้ดดิ้ง ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจเทคโนโลยี เราจะไม่มีทางสู้เขาได้เลย รายได้ของเราก็จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงเรื่อย ๆ เพราะสินค้าต่าง ๆ ก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ อะไรที่เป็นเทคโนโลยีที่เราอยากได้ เขาจะตั้งราคาเท่าไหร่ เราก็ไปตามซื้อ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จะเริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีความฉลาด รวดเร็ว ทุกวันนี้ทุกคนแข่งขันกันเพื่อจะสร้างคอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก วันนี้คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ กำลังล้าสมัย จะมีคอมพิวเตอร์ควอนตัมเกิดขึ้น เป็นเทคโนโลยีระดับสูงซึ่งเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบันถึง 100 ล้านเท่า ขณะที่ประเทศจีนบอกว่าเร็วกว่าหลายพันล้านเท่า ในอนาคตใครมีคอมพิวเตอร์ควอนตัม สามารถเขียนโค้ดดิ้งได้ คนนั้นจะเป็นคนที่ครองโลก แต่เป็นที่น่าเศร้า ที่วันนี้ประเทศไทย ยังหาคนเขียนโค้ดดิ้งไม่ได้เลย เรายังอยู่อันดับท้าย ๆ ของโลก และเรายังไม่มีงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม เราต้องรออนาคตจากเด็กไทย

“ตอนที่ผมเป็นอธิการบดีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผมสร้างสถาบันเป็นโปรแกรมเมอร์ แห่งแรกของไทย และแห่งที่ 3 ของเอเชีย หรือที่เรียกว่า 42 Bangkok ที่นำองค์ความรู้ภาษาคอมพิวเตอร์มาจากฝรั่งเศสให้ทุกคนข้าเรียนฟรี ไม่จำกัดอายุ ในนั้นไม่มีอาจารย์สอน แต่เป็นเหมือนสถานที่เล่นเกมตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงยาก กว่า  21 ขั้น ฝึกให้แก้โจทย์ ปัญหา สถาบันแห่งนี้ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อขานรับนโยบายโค้ดดิ้งคุณหญิงกัลยา จึงอยากให้ทุกคนเข้าไปเรียน ผมอยากฝากเด็กไทยทุกคน สมัยนี้วิชาความรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน มันมีหลักสูตรมากมายบนโลกออนไลน์ หลายหลักสูตรเรียนฟรี จึงอยากให้เด็ก ๆ เรียนรู้เพิ่มเติม”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการศึกษาทุกวันนี้จะเรียนศาสตร์เดียวไม่ได้ อย่างคนเรียนหมอ จะเรียนแต่ความรู้ชีววิทยาอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเรียนเอไอ คอมพิวเตอร์ด้วย เพราะว่าหมอยุคนี้จะทำงานเหมือนเดิมไม่ได้ จะต้องมีเครื่องมือทันสมัยวินิจฉัยโรค มีการแพทย์ทางไกล และอนาคตหุ่นยนต์จะผ่าตัดแทนหมอ มีความแม่นยำมากขึ้น 

“อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้คนทั่วไปเข้าใจถึงความสำคัญของโค้ดดิ้ง ว่าทำไมเราถึงต้องช่วยกันขับเคลื่อน ผมได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แผนต่อไปก็จะเน้นสร้างความเข้าใจต่อสังคมต่อเนื่อง เพราะสังคมยังไม่เข้าใจว่าโค้ดดิ้งสำคัญยังไงกับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ คนอยากเป็นหมอก็ต้องเข้าใจเรื่องโค้ดดิ้ง แม้แต่เกษตรกรก็ต้องเข้าใจเรื่องโค้ดดิ้ง คนที่ประสบความสำเร็จในโลก ก็ล้วนแต่เก่งโค้ดดิ้งทั้งนั้น ผมก็มีแผนร่วมกับคุณหญิงกระจายเรื่องนี้ให้ทุกคนเข้าใจ”

ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า ดร.เอ้ สุชัชวีร์ จะเข้ามาช่วยเสริมทัพขับเคลื่อนการศึกษา เพราะท่านเป็นผู้ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมอยู่แล้ว และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการศึกษา ก็อยากให้ท่านเป็นที่ปรึกษา เพราะความหวังของเราคืออยากให้เด็กไทยเก่งในระดับสากล ซึ่งแผนงานจะแจกแจงรายละเอียดภายหลัง

ตอนนี้การนำเอาโค้ดดิ้งไปสอนในโรงเรียนบางแห่ง ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากนัก ที่เพิ่งทำไปคือการอบรมครู 4 แสนคนทั่วประเทศ นำไปประยุกต์บูรณาการสอน จริง ๆ โค้ดดิ้งก็ไม่ได้เป็นวิชาให้ความรู้หนัก ๆ เสียทีเดียว แต่เป็นวิชาช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุและผล ที่ทุกคนควรจะมีทักษะเหล่านี้ติดตัว ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม