ตรีนุช รมว.ศึกษาธิการ เจรจาญี่ปุ่นเพิ่มโควตาทุน KOSEN ให้นักเรียนไทย

ศึกษาธิการ ญี่ปุ่น

ตรีนุช รมว.ศึกษาธิการ เจรจาญี่ปุ่นเพิ่มโควตาทุน KOSEN ให้นักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ ดร.อิโนเอะ มิสึเทรุ กรรมการบริหารอาวุโส National Institute of Technology (KOSEN) หรือสถาบันโคเซ็น และ ดร.โนบุคาซู โออิ อธิการบดีสถานบันโคเซ็นแห่งเมืองอากาชิ (Akashi KOSEN)

และตรวจเยี่ยมติดตามชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา ของนักเรียนทุนรัฐบาลไทย โครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งเป็นการจัดทุนการศึกษาให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 ของกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในการศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ณ สถาบันโคเซ็น ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 5 สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และเข้าศึกษาต่อในหลักสูตร Advance Course จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รวมระยะเวลาในการศึกษา 7 ปี พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานของ ศธ.ในการประสานงานและการดูแลนักเรียนในโครงการดังกล่าว

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า สถาบันโคเซ็น เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ร่วมเรียนรู้ที่สถานประกอบการ นำโจทย์ปัญหาที่พบกำหนดเป็นหัวข้อการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย และวัดผล ประเมินผลจากการวิจัยที่ผู้เรียนดำเนินการ

ซึ่งสถาบันโคเซ็นก่อตั้งครบรอบ 60 ปีในปีนี้ ปัจจุบันมีสถาบันโคเซ็นจำนวน 51 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น และมี 2 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ KOSEN-KMITL (โคเซ็น เคเอ็มไอทีแอล) และ KOSEN KMUTT (โคเซ็น เคเอ็มยูทีที)

ซึ่งจากการที่เยี่ยมเยียนนักเรียนไทยที่กำลังศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ประจำเมืองอากาชิจำนวน 11 คน พบว่านักเรียนไทยในสถาบันโคเซ็น ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งการเรียน ที่พักอาศัยที่สะดวกสบายและปลอดภัย มีกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมทั้งได้รับโอกาสในการเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การที่น้อง ๆ ที่เพิ่งจบระดับชั้น ม.ต้น ต้องเดินทางมาศึกษาต่อในต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปรับตัวในด้านการเรียน ความแตกต่างของภาษา สังคม และวัฒนธรรม แต่น้อง ๆ ทุกคนก็สามารถพัฒนาตนเอง และก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาได้

โดยสิ่งที่เห็นได้ชัด นอกเหนือจากศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นแล้ว คือการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร (Communication) การสร้าง (Creation) และการเชื่อมต่อ (Connection)

“นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมห้องเรียน อาคารหอพัก ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งในมิติด้านการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและความปลอดภัย ซึ่งดิฉันได้มอบหมายให้เลขาธิการ กพฐ. ศึกษารูปแบบที่ได้พบเห็น เพื่อประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทยต่อไป อีกทั้งดิฉันยังได้หารือกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการสร้างโอกาสให้นักเรียนไทยได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการจัดสรรทุนในจำนวนที่มากขึ้น และมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยการสนับสนุนของภาคเอกชน หรือการสนันสนุนลักษณะทุนการศึกษาครึ่งหนึ่ง (half scholarship) ด้วย”