รัฐสภาไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ

ตรีนุช เทียนทอง
ตรีนุช เทียนทอง

รัฐสภาไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำคนทุกช่วงวัย “ตรีนุช” มั่นใจกฎหมายลูก 13 ฉบับเสร็จทันมีผลบังคับใช้

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้ว

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต โดย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….มีทั้งหมด 31 มาตรา อาทิ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 โดยใน มาตรา 24 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้เปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้กำหนดให้มีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้, มีหน่วยจัดการเรียนรู้ คือ หน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้, มีภาคีเครือข่าย, มีสถานศึกษา และมีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา, เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ, ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน

ผู้พ้นวัยศึกษาในโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง, มีการยกระดับคุณภาพการศึกษา เกิดการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา และการวัดผลประเมินผลของการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมเข้ามาจัดการเรียนรู้ของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตลอดจนส่งเสริมให้การใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, เกิดกลไกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของประเทศ

โดยมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้และหน่วยงานในสังกัดตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนในทุกระดับ, เกิดระบบการเทียบโอนเทียบเคียงผลการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ หรือ เพิ่มคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา และมีการกระจายอำนาจโดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

“ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมจัดทำกฎหมายลำดับรอง อาทิ การปรับปรุงโครงสร้าง ระเบียบกรมส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดอัตรากำลังในการดำเนินงาน รวมจำนวน 13 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 4 ฉบับ ประกาศกระทรวง 4 ฉบับ ประกาศกรม 1 ฉบับ และระเบียบกรม 4 ฉบับ เพื่อรองรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. ซึ่งมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

ทั้งนี้ ดิฉันขอขอบคุณคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ทั้ง 49 ท่าน และคณะที่ปรึกษา ซึ่งมี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมาธิการ ที่ได้ช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นรอบด้านทุกภูมิภาค จึงส่งผลต่อความพึงพอใจของทุกภาคส่วน ต่อกฎหมายฉบับนี้”