ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก้หนี้ครูแบบพุ่งเป้า 4 เรื่อง วางแผนจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ในระดับภูมิภาค ร่วมกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เจาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตให้ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้โดยตรง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุม “ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับภูมิภาค โดยสถานีแก้หนี้ครู” เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาระดับเขตพื้นที่ ในกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
โดยนางสาวตรีนุชกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง และได้เจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ ขอความร่วมมือในการช่วยเหลือเพื่อนครู ตามแนวทางที่เหมาะสม อาทิ การลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยแบ่งเบาการะหนี้ให้กับครู, การปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน
โดยได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นอย่างดี รวมถึงความร่วมมือจากสถาบันการเงินและหน่วยงานส่วนกลางของ ศธ.ด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าการช่วยกันหาแนวทางลดความเดือดร้อนให้ครูในวันนี้ จะช่วยให้ครูมีความหวังและปัญหาหนี้ครูจะได้รับการแก้ไขสำเร็จได้จริง และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ครูแต่ละกลุ่มมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การจัดการปัญหาหนี้สินครูจึงต้องแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้า วางแนวทางจัดการแตกต่างและเหมาะสมในแต่ละกลุ่ม
ทั้งนี้ตนได้มอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู 4 เรื่อง ดังนี้
1.พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลหนี้ครู โดยจัดกลุ่มลูกหนี้ครูตามสถานะ ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้วิกฤตครูบำนาญ กลุ่มผู้ค้ำประกันครูบำนาญ กลุ่มลูกหนี้วิกฤตครูในระบบ กลุ่มลูกหนี้ครูในระบบ และกลุ่มครูที่ยังไม่มีหนี้ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลหนี้ครูทั้งระบบ
2.บริหารจัดการแบบพุ่งเป้า โดยมี 4 แนวทาง คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, ปรับโครงสร้างหนี้, ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี และจัดหา Soft Loan ซึ่งจะกำหนดวิธีช่วยเหลือของแต่ละแนวทางให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม
3.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแรงของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกับสถาบันการเงิน และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วยกัน
4.สร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ครูแต่ละกลุ่มรู้จักการวางแผนทางการเงิน ทั้งสำหรับกลุ่มครูที่ยังไม่เป็นหนี้และครูที่เป็นหนี้ โดยให้เป็นบทบาทของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถานีแก้หนี้ครู สถาบันการเงิน ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานต้นสังกัด
“นอกจากนี้ ศธ.กำลังวางแผนจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ในระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อเจาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตให้ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้โดยตรง รวมถึงกลุ่มลูกหนี้ครูกลุ่มต่าง ๆ พร้อมให้ความรู้ในการวางแผนทางการเงินด้วย
ซึ่งผลตอบรับของการจัดงานในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และการเข้าร่วมจัดงานมหกรรมแก้หนี้ของกระทรวงการคลัง ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลานั้น สามารถช่วยให้ครูที่เป็นหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจมาก และมีครูที่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้สำเร็จกว่าร้อยละ 90 โดยจะจัดขึ้นทุกภูมิภาคในเร็ว ๆ นี้”