มจธ.ปรับหลักสูตรวิศวกรรมเคมี เร่งสร้างคนป้อนอุตสาหกรรมการแพทย์

มจธ.เร่งสร้างกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เร่งสร้างกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ปรับหลักสูตร ป.โท วิศวกรรมเคมี เปิดกว้างรับคนจบสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าเรียน

วันที่ 6 มีนาคม 2566 รศ.ดร.อัศวิน มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุและวัคซีนในยุคปัจจุบัน

นอกเหนือจากนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเภสัชกรที่ศึกษาค้นคว้าและสังเคราะห์ยาตัวใหม่ ๆ แล้ว วิศวกรในกระบวนการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีน หรือที่เรียกว่า ไบโอฟาร์มาเอ็นจิเนีย (BioPharma Engineers) ก็มีความสำคัญเช่นกัน

“ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกร จะเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับสารกลุ่มที่สนใจ ทั้งด้านโครงสร้างและคุณสมบัติ แต่การนำสิ่งที่พบหรือพัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตจริง จะต้องเป็นหน้าที่ของวิศวกรที่จะต้องวิเคราะห์และคำนวณหลักเกณฑ์ หลักการและโปรเซสที่ต้องใช้ในการขยายขนาดจากห้องปฏิบัติการมาสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์”

ซึ่งในส่วนนี้สอดคล้องกับการที่ มจธ. ได้มีการจัดสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตยา คือโรงงานผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า โรงงานเอ็นบีเอฟ (National Biopharmaceutical Facility : NBF) ในพื้นที่บางขุนเทียน ในช่วง 2551 ที่ทำให้เราต้องการวิศวกรชีวเภสัชภัณฑ์เพื่อมาทำหน้าที่นี้ตรงนี้เช่นเดียวกับความต้องการที่เกิดกับบริษัทผลิตยาทั้งในไทยและทั่วโลก

“จึงเป็นที่มาของการเปิด หลักสูตรวิศวกรรมเคมี สายวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่เป็นหลักสูตรวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมในฐานะผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี้ แม้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ตามแผนที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ของสถานการณ์ในปัจจุบันเท่าที่ควร”

มจธ

45% เรียนจบได้ทำงานอุตสาหกรรมผลิตยา

รศ.ดร.อัศวินกล่าวต่อว่า นับถึงวันนี้ มีผู้จบหลักสูตรระดับปริญญาโทของเรากว่า 45% ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตยา หรือหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาทั้งในและต่างประเทศ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดการระบาดของโรคติดต่อชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ไข้หวัดนก มาจนถึงโควิด

ซึ่งการค้นคว้าวิจัยเพื่อหายาที่จะมาต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ จะมุ่งไปที่การสกัดหรือนำโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ หรือแอนติเจนของสิ่งมีชีวิตมาผ่านกระบวนทางเภสัช ที่ในขั้นตอนของการผลิตจริงต้องใช้วิศวกรที่เชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนเป็นการเฉพาะ

ขณะเดียวกันแนวคิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ระบุความต้องการแรงงานด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรในพื้นที่ EEC ไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือคำถามที่เราต้องหาคำตอบโดยเร่งด่วน

ปรับหลักสูตร เปิดกว้างรับคนจบวิทย์เข้าเรียน

ดังนั้นในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ ปี พ.ศ. 2564 นอกจากการทำให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเปิดกว้างให้สามารถรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ป.ตรี จากด้านวิศวกรรมเคมีโดยตรง และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพได้อีกด้วย

และนอกจากการสร้างกำลังคนระดับสูง ภายใต้หลักสูตรวิศวกรรมเคมีสายวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์แล้ว ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ยังมีการดำเนินการภายใต้โครงการยูเชพ (U-CHEPS : Undergraduate Chemical Engineering Practice School)

สาขาไบโอฟาร์มา ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเคมีของ มจธ. ที่สนใจในงานวิศวกรที่เกี่ยวกับการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีน ได้มีประสบการณ์ในโรงงานจริง รวมถึงหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างกำลังคนสาขานี้ให้ได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

“ยูเชพ เป็นโครงการที่เน้นภาคปฏิบัติไปฝึกงานที่โรงงานผลิตยา มีทักษะ มีความรู้พื้นฐานที่สามารถไปเทรนนิ่งต่อยอดได้ เป็นที่ต้องการ สามารถป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยาผลิตวัคซีนได้เลย

นอกจากนี้ เรากำลังจะพัฒนาหลักสูตรที่สามารถใช้รับรองความรู้ด้วยตนเอง หรือ MC (Micro-Credential) ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตยา เพื่อผู้ที่จบ ป.ตรี หรือแม้แต่ ม.ปลาย สายวิทย์ และสนใจจะทำงานด้านนี้ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้พิสูจน์และขอการรับรองความสามารถ

เพื่อให้ได้ Digital Badge ที่ออกโดย มจธ. ไปแสดงความเชี่ยวชาญตอนสมัครงานได้ทันที ซึ่งนี่คือการสร้างกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของไทยอย่างเป็นรูปธรรม”