อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ทำไมควรยกเลิกการจัดอันดับในชั้นเรียน ?

โรงเรียน ห้องเรียน
ภาพ : pixabay

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนุนยกเลิกการจัดอันดับในชั้นเรียน เพราะสร้างแรงกดดันต่อเด็กเกินไป การศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน แต่ต้องตอบโจทย์การเรียนรู้แบบ Personalized

วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โพสต์ข้อความถึงการจัดอันดับในชั้นเรียน ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงกดดันแก่เด็กมากเกินไป เพราะการศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน ควรจะส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้แบบ Personalized หาศักยภาพตนเอง โดยระบุว่า 

ทำไมเราควรยกเลิกการจัดอันดับในชั้นเรียน ?

ยังจำได้ดีตอนเรียนอยู่ชั้นประถม สมัยนั้นโรงเรียนจะมีการประกาศผลการเรียนว่าใครได้ลำดับที่เท่าไหร่ ไล่ไปตั้งแต่ที่ 1 2 3 ไปจนถึงที่โหล่ของห้อง ซึ่งตอนนั้นก็ลุ้นกันสนุกตามภาษาเด็ก แต่ก็แอบสงสัยเหมือนกันว่าการจัดอันดับแบบนี้ทำไปทำไม แล้วเพื่อนที่ได้ลำดับท้าย ๆ จะรู้สึกยังไง

ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าในบ้านเรายังมีการจัดอันดับผลการเรียนแบบเดิมอยู่มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าหลาย ๆ โรงเรียนเลิกใช้วิธีประกาศผลแบบนี้แล้ว ซึ่งเราเห็นด้วยมาก ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ

สร้างแรงกดดันเกินไป

ลองจินตนาการว่า ถ้าเราคือคนที่อยู่อันดับท้าย ๆ จะรู้สึกยังไง เราคงเฟลไม่น้อย คงเครียด และรู้สึกกดดัน จนอาจทำให้หมดกำลังใจ เพราะในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่เจอเรื่องแบบนี้แล้วจะนำมาเป็นแรงผลักดัน ทำให้ตัวเองตั้งใจเรียนมากขึ้น จริงมั้ย

การศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน

จริงอยู่ที่ชีวิตคนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใส่การแข่งขันเข้าไปในทุกมิติของชีวิตขนาดนั้น ควรส่งเสริมให้ชั้นเรียนเป็นพื้นที่ของการค้นหาตัวเอง พัฒนาตัวเองในแบบที่ชอบมากกว่า

ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบ Personalized

แต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน มีสิ่งที่สนใจไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป้าหมายของการเรียนรู้จึงเป็นการพัฒนาตัวเองแบบ Personalized การจัดอันดับผลการเรียนด้วย GPA หรืออะไรก็ตาม ทำให้เด็กรู้สึกถูกเปรียบเทียบ ต้องรักษามาตรฐานกับผู้อื่นตลอดเวลา แล้วไม่โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองสนใจและทำได้ดีอย่างเต็มที่

อีกประเด็นที่ต้องใส่ใจคือเรื่องการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล หรือเรื่อง PDPA ที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ทุกวันนี้  เพราะข้อมูลที่แสดงความอ่อนด้อย หรือทำให้เกิดการเปรียบเทียบเกิดการแพ้ชนะ และมีบุคคลที่สามมารับรู้ มันเป็นข้อมูลที่ต้องระมัดระวังในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้ก่อน 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางโรงเรียนควรประเมินอยู่เสมอ คือ แรงจูงใจและความพยายาม (Motivation) ตามมาด้วยทัศนคติของเด็ก (Attitude) และความสำเร็จในการเรียน (Achievement) เช่น ผ่านเกณฑ์ปานกลาง หรือมากกว่าที่คาดหวัง เป็นต้น โดยที่โรงเรียนต้องรู้ให้ได้ว่าเด็กแต่ละคน มีจุดเด่น มีความชอบ มีเรื่องไหนที่ทำได้ดี เพื่อผลักดันให้สำเร็จต่อไป

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สำหรับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ อยากบอกว่า สิ่งสำคัญมากกว่าผลการเรียนคือการตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำอะไร เราอยากพัฒนาตัวเองไปถึงจุดไหนในวันข้างหน้า เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วก็จะรู้ว่าสิ่งที่ต้องโฟกัสคืออะไร บางคนอาจจะไม่ต้องเรียนได้ A หมดก็ได้ ขอแค่ประคับประคองไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนใครที่ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองสนใจและทำได้ดี ก็ยังมีเวลาค้นหาและค่อย ๆ พัฒนาตัวเองต่อไปได้ค่ะ