นักศึกษาจีนแห่กลับไทย มหา’ลัยเอกชนชิง 3 ล้านคน

นักศึกษาจีน
มติชนออนไลน์

มหาวิทยาลัยเอกชนไทยเปิดศึกชิงนักศึกษาจีน 3 ล้านคน หลังจีนเปิดประเทศ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้บุกเบิกตลาดจีนเจ้าแรก ส่งรถบัสรับถึงสนามบิน เข้าชั้นเรียนปีหนึ่ง 1,000 คน นิยมหลักสูตรบริหารธุรกิจ การท่องเที่ยวจัดการโรงแรม ม.รังสิต กระจายทุกสาขานับพันคน ม.กรุงเทพ คึกคักเปิดหลักสูตร “เจ้าของกิจการ”

จีนเปิดประเทศโดยผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นโอกาสในธุรกิจการศึกษาของไทยในระดับของอุดมศึกษาด้วย หลังจากนักศึกษาจีนต้องกลับประเทศ และมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาตลอดเกือบ 3 ปี ล่าสุดนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัยเอกชนไทย ได้เริ่มกลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแบบออนไซต์เกือบทั้งหมด

อีกทั้งยังเป็นโอกาสของการรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2565-2566 เพราะจีนถือเป็นตลาดใหญ่ แต่ละปีมีนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประมาณ 9 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยของจีนทั้งของภาครัฐ และเอกชนรองรับนักศึกษาปริญญาตรีเพียง 6 ล้านคน ฉะนั้น ในส่วนที่เหลือนักศึกษาจึงต้องมองหาโอกาสเพื่อเรียนต่อในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของนักศึกษาจีนที่แห่มาเรียนเมืองไทย

มหา’ลัยไทยชิงจีน 3 ล้านคน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ปัจจุบันนักศึกษาจีนได้เดินทางกลับเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งเป็น 1 ในสถาบันการศึกษาไทยที่รับสมัครนักศึกษาและมีนักศึกษาจีนสนใจเข้ามาเรียนมากที่สุด “นักศึกษาจีนกลับเข้ามาเรียน on-site เป็นปกติแล้ว หลังจากช่วงโควิด-19 ต้องกลับไปเรียน online โดยเราเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่เปิดหลักสูตรภาษาจีนเป็นแห่งแรก ๆ ของประเทศ”

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกริกเปิดหลักสูตรปริญญาตรี-โท-เอก และหลักสูตรนานาชาติ (วิทยาลัยนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตรภาษาจีน โดยคณะที่เป็นที่นิยมของนักศึกษาจีน ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตร์-บริหารธุรกิจ ผ่านความร่วมมือทางด้านวิชาการไทย-จีน เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนจีนที่จบการศึกษาขั้นมัธยมปลายจากปัจจุบันเฉลี่ยแต่ละปีการศึกษาประมาณ 8-9 ล้านคน แต่มีสถานศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยรองรับประมาณ 6 ล้านคน ส่งผลให้มีนักเรียนมากกว่า 3 ล้านคนต้องกระจายออกไปศึกษาหรือประกอบอาชีพ โดย 1 ในประเทศที่นักเรียนจีนสนใจที่จะเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็คือ ประเทศไทย

มธบ.ใช้รถบัสรับถึงสนามบิน

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีนักศึกษาจีนกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เรียนวิทยาลัยนานาชาติจีน และวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ส่วนหลักสูตรที่สมัครเรียนมากสุดคือ หลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ, การท่องเที่ยวและโรงแรม และศิลปกรรม ฯลฯ ซึ่งการเรียนการสอนของนักศึกษาจีนต้องดูตามแนวนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย เนื่องจากมีผลต่อการกลับไปรับใบรับรองวุฒิการศึกษาที่ประเทศจีน

“โดยช่วงโควิด-19 ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นักศึกษาส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับประเทศ แต่เมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคมผ่านมา นักศึกษาจีนจึงเริ่มทยอยกลับมาเรียนออนไซต์แล้ว สำหรับปีนี้มีนักศึกษาจีนกลับมาหลายพันคนทั้งนักศึกษาเก่า และนักศึกษาใหม่ โดยปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาใหม่ชั้นปี 1 ราว 1,000 กว่าคน และในช่วงต้นเดือนมกราคม มหาวิทยาลัยของเราไปรับนักศึกษาจีนที่สนามบินแล้วประมาณ 8 คันรถบัส”

ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวต่อว่า มธบ.ถือเป็นสถาบันแรก ๆ ที่บุกเบิกเปิดตลาดการศึกษาในประเทศจีน จึงทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักศึกษาจีนที่สนใจศึกษาในต่างประเทศ อีกทั้งหน่วยงานการศึกษาของรัฐบาลจีนได้รับรองผู้สำเร็จการศึกษาจาก มธบ.อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนเองค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนักศึกษาที่สนใจจะมาศึกษาในประเทศไทย โดยมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาจีนที่สนใจมาเรียนในประเทศไทยด้วย

“ส่วนเรื่องการทำตลาดในจีน เราเริ่มจากการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีนมาก่อนหน้านี้ จากนั้นก็ใช้ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจาก มธบ.ไปช่วยประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย รวมถึงหลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ตอนนี้ มธบ.มีนักศึกษาจีนมาจากหลากหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เฉิงตู, คุนหมิง, ฮาร์บิน เป็นต้น”

ชูกลยุทธ์ท่องเที่ยวเชิงการศึกษา

ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวอีกว่า การดึงนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทย ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพราะการที่นักศึกษาจีนเข้ามาในประเทศ ไม่เพียงจะเข้ามาแค่ศึกษาเท่านั้น หากพวกเขายังมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนการท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกันด้วย ผลเช่นนี้ ก้าวต่อไปของ มธบ.จึงอยากผลักดันเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา (educational tourism) เพราะประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้าน ทั้งค่าครองชีพถูก, สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม และการศึกษามีคุณภาพ ฯลฯ

ดังนั้น เป้าหมายใหญ่ของเราจึงมองถึงการเติบโตในอนาคตที่จะต้องรักษานักศึกษาจีนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด และพยายามเพิ่มจำนวนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น เราก็มองข้ามชอตไปยังตลาดนักศึกษานานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เพราะปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยค่อนข้างเปิดกว้าง กอปรกับ มธบ.มุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นสากลและนานาชาติ เราจึงต้องมีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากนักศึกษาจากประเทศจีน ทั้งนั้น เพื่อหวังยกระดับ มธบ. เพื่อไปสู่ educational tourism ในอนาคต

ม.รังสิตเน้นรับนักศึกษาคุณภาพ

ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักศึกษาจีนที่เรียนในมหาวิทยาลัยรังสิตทุกชั้นปี ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก มีประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่กระจายไปตามคณะต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาจีนรวมถึงนักศึกษาประเทศอื่น ๆ ตอนนี้เริ่มทยอยกลับมาเรียนออนไซต์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 แล้ว ตามคำร้องของแต่ละคณะ ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 จะเป็นการทยอยกลับมาลอตใหญ่ภายหลังจีนมีนโยบายเปิดประเทศ

ทั้งนี้ จำนวนนักศึกษาจีน และนักศึกษาต่างประเทศของ ม.รังสิต ค่อย ๆ เติบโตเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าเฉพาะจำนวนนักศึกษาจีนหากเทียบสถิติปี 2565 มีการรับนักศึกษาใหม่ราว 300 คน แต่ในปี 2566 นี้เพิ่มขึ้นเป็น 400 คน เหตุผลที่เราค่อย ๆ โต เพราะเรามีการคัดกรองเด็กก่อนเข้ามาเรียนอย่างละเอียด มีการตรวจเช็กเอกสารประกอบการสมัครเรียน และการดำเนินการเรื่องวีซ่าต่าง ๆ และคาดว่าจำนวนจะไม่ลดลง และยังเติบโตไปได้อีกเรื่อย ๆ

ม.กรุงเทพ ชูหลักสูตรเถ้าแก่

ด้านมหาวิทยาลัยกรุงเทพระบุว่า มีความพร้อมในการรับนักศึกษาจีนและนักศึกษาต่างชาติอื่นที่ประสงค์จะสมัครเรียนในหลักสูตรนานาชาติที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนสาขาวิชาที่หลากหลายครอบคลุมความเชี่ยวชาญและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ทั้งทางด้านการผลิตคอนเทนต์ ด้านการท่องเที่ยวและการบริการ และด้านการบริหารธุรกิจและการเป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ นักศึกษาที่สามารถใช้ภาษาไทยได้ยังสามารถเลือกเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย มหาวิทยาลัยมีศูนย์นานาชาติที่ดูแลและให้คำปรึกษานักศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเดินทางมาเรียน เช่น การเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นขอวีซ่า และการหาที่พักล่วงหน้า เมื่อเดินทางมาศึกษาในมหาวิทยาลัย บุคลากรของศูนย์นานาชาติดูแลและสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติอย่างใกล้ชิดทั้งทางด้านวิชาการ การทำกิจกรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ของนักศึกษา

แห่เรียน ป.ตรีหลายหมื่นคน/ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปี 2564 เปิดเผยว่า จำนวนนักศึกษาจีนที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2561 มีจำนวน 10,617 คน, ปี 2562 มีจำนวน 11,993 คน และข้อมูลล่าสุดปี 2563 มีจำนวน 14,423 คน

ขณะที่ข้อมูลบางส่วนของกระทรวง อว.ระบุอีกว่า ในปี 2563 มีนักศึกษาจีนกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยดังนี้ กทม.และปริมณฑล 11,515 คน, ภาคเหนือ 2,067 คน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 305 คน, ภาคตะวันออก 305 คน, ภาคกลาง 148 คน, ภาคใต้ 83 คน

โดยนักศึกษาจีนที่ศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางจะศึกษาอยู่ในสถาบันเอกชนเป็นส่วนใหญ่ และในปี 2563 ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่รับนักศึกษาจีนจำนวน 102 แห่งทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาจีนมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีนักศึกษามากกว่า 3,000 คน