ม.กรุงเทพ ชี้ 3 สายงานด้านไอทีมาแรง บริษัทพร้อมให้เงินเดือนสูง

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชี้เทรนด์อาชีพไอทีมาแรง 3 สายงานเป็นที่ต้องการทั่วโลก หลายบริษัทพร้อมเสนอเงินเดือนให้สูงกว่าโปรแกรมเมอร์ทั่วไป

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพด้านไอทีทุกสาขามีความต้องการและขาดแคลนอย่างมากทั้งในระดับโลก รวมทั้งในประเทศไทยเองด้วย

ทั้งนี้เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้อาชีพด้านไอที มีความต้องการสูงในทุกตำแหน่งงาน และเป็นหนึ่งในทิศทางตลาดแรงงานที่จะช่วยทำให้แรงงานไทยหลุดพ้นจากกับดักความยากจนตามแผนพัฒนาประเทศ

จึงเป็นตัวการันตีอย่างหนึ่งว่านักเรียนที่เข้าเรียนต่อด้านไอที เมื่อเรียนจบไปแล้ว จะมีงานทำรองรับในทันทีจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม งานในสายไอทีเริ่มมีความต้องการโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ตามปัญหาและความต้องการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ หรือเทรนด์การเก็บข้อมูลลูกค้า จัดทำฐานข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาธุรกิจ

ทำให้เกิดอาชีพโปรแกรมเมอร์สาขาใหม่ขึ้นมาก็คือ “สาขาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” เพื่อดูแลระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล และ “สาขาวิทยาการข้อมูล” เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลสำหรับการนำมาวิเคราะห์และประโยชน์

“ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้เปิดสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Data Science and Cybersecurity) ขึ้นมารองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ควบคู่กับสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว

โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงในวงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่าง บริษัท T-Net ผู้ให้บริการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และบริษัท G-Able ผู้พัฒนาโซลูชั่นด้านไอทีสำหรับองค์กร เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติกับมืออาชีพในวงการตัวจริง”

ม.กรุงเทพ

สร้างคนไอทีระดับ Full stack

ดร.พัฒนพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังเปิดรับนักเรียนทุกสาย ทั้งเด็กสายวิทย์ และสายศิลป์ ที่สนใจเข้ามาเรียนสาขาไอที โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนจบด้านสายศิลป์ แต่มีความสนใจด้านการเขียนโปรแกรม อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้อย่างแน่นอน

“เพราะเราออกแบบหลักสูตร ตั้งแต่ปูพื้นฐานความรู้ทุกอย่างที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรม ระบบตรรกะความคิดในการเขียนโปรแกรม การเรียนภาษาโปรแกรมที่นิยมใช้กันมากที่สุด ไปจนถึงการฝึกฝนผ่านการเรียน และการแข่งขันจนมีความชำนาญ

ซึ่งจะทำให้เป็นนักพัฒนาโปรแกรมที่พัฒนาได้ทั้งส่วนหน้าบ้าน (Front End) และส่วนหลังบ้าน (Back End) หรือที่เรียกว่า Full Stack Developer ซึ่งเป็นระดับที่บริษัทไอทีทุกบริษัท พร้อมเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าโปรแกรมเมอร์ทั่วไป เพื่อคว้าตัวไปร่วมงาน และที่ผ่านมาก็ได้มีบริษัทไอทีเข้ามาติดต่อ ขอตัวนักศึกษาไปทำงานระหว่างที่กำลังศึกษาเป็นจำนวนมากอีกด้วย”

ม.กรุงเทพ

3 สาขาวิชาจบไปถูกแย่งตัว-เงินเดือนสูง

ดร.พัฒนพลยกตัวอย่าง วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นสาขาที่มุ่งเน้นการเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่สามารถจะต่อยอดไปการทำงานในสายไอทีด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เขียนโปรแกรมใช้ภายในองค์กร พัฒนาระบบเว็บไซต์ หรืองานไอทีในสาขาต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่นักศึกษาสามารถต่อยอดไปทำงานไอทีได้หลากหลาย และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของบริษัทและลูกค้าได้ในอนาคต

ส่วนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นสายงานที่มีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับต้น ๆ ของการประกาศรับสมัครงานด้านไอที แม้กระทั่งหน่วยงานกองทัพก็ยังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาระบบป้องกันประเทศ เพื่อปกป้องระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศและข้อมูลประชาชน หากเกิดสงครามไซเบอร์ (Cyber warfare) ในอนาคต 

สำหรับองค์กรบริษัททั่วไปก็มีความต้องการผู้ดูแลความปลอดภัยข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสำคัญของบริษัท การดูแลระบบป้องกันการเจาะเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บรักษาข้อมูล จึงถือว่าความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาไม่นาน แต่เป็นที่ต้องการของทุกบริษัท ทุกองค์กรอย่างมาก

เพราะปัจจุบันข้อมูลของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล รูปภาพ บัญชีธนาคาร ข้อมูลด้านการแพทย์ ทุกอย่างถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ หรือเก็บไว้ในระบบคลาวด์ (เก็บข้อมูลบนฐานข้อมูลออนไลน์) ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายการเจาะข้อมูลของแฮกเกอร์ เพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ไปขายต่อในตลาดมืด หน้าที่ของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือการเป็นผู้ดูแลระบบและข้อมูลเหล่านี้ให้ปลอดภัย สามารถแก้ไขปัญหาเมื่อระบบตรวจจับได้ว่ากำลังถูกแฮกเกอร์บุกรุกนั่นเอง

ท้ายสุดคือวิทยาการข้อมูล (Data Science) ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งอนาคตที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น วิทยาศาสตร์แขนงที่สี่ ต่อยอดจากวิทยาศาสตร์การทดลอง วิทยาศาสตร์ทฤษฎี และวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ เปรียบเสมือนเหมืองทอง และบ่อน้ำมัน ที่มีมูลค่ามหาศาล และทุกบริษัทยอมทุ่มทุนซื้อหรือพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้มีชัยเหนือคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม สาขาวิชานี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้ระบบทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อออกแบบระบบฐานข้อมูล และสร้างอัลกอริทึม มาประมวลผลฐานข้อมูลที่ได้มา เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)

ซึ่งทำให้โปรแกรมเมอร์ด้าน Data Science เป็นที่ต้องการขององค์กรระดับโลก และมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับโปรแกรมเมอร์สาขาอื่น ๆ

เปิดชีวิตเด็กไอที

ฮาริส เกิดภักดี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และตัวแทนนักศึกษาโครงการ Microsoft Learn Student Ambassadors เล่าถึงการเรียนในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่า สาเหตุที่ผมอยากเรียนด้านการเขียนโปรแกรม เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจ และผมเองก็อยากทำงานในสาขานี้

แต่ในช่วงที่เรียนจบ ม.ปลาย ติดปัญหาอยู่ที่ผมเรียนด้านสายศิลป์มาก่อน แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะกำหนดว่า คนที่จะเข้ามาเรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ จะต้องเรียนจบด้านสายวิทย์-คณิต เพราะจะมีส่วนที่ต้องใช้ความรู้ด้านวิชาคณิตศาสตร์อย่างแคลคูลัส ร่วมในการเขียนโปรแกรม ทำให้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่รับเด็กสายศิลป์เข้าเรียนสาขานี้

ผมจึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต มาเดินเที่ยวชมงานโอเพ่นเฮาส์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วถามพี่ ๆ ว่าผมเรียนสายศิลป์ ผมจะเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ไหม พี่ ๆ ก็บอกว่าได้ อาจารย์ก็บอกว่าได้ ผมจึงตัดสินใจเรียนที่นี่ พอได้เรียนก็รู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่เรียนที่นี่ เพราะหลักสูตรที่เรียนจะเริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐานสำหรับคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนจนเขียนโปรแกรมเป็น

วิชาแคลลูลัสที่ยากสำหรับผม อาจารย์จะสอนพื้นฐานให้เราและเลือกใช้เท่าที่จำเป็นสำหรับการเรียน แม้จะยากสำหรับเด็กสายศิลป์ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าเด็กสายศิลป์อย่างผมสามารถเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ได้จริง ๆ เพราะปัจจุบันผมได้ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนนักศึกษาของโครงการ Microsoft Learn Student Ambassadors ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีความสามารถด้านไอทีที่สูงขึ้นและพร้อมส่งต่อความรู้แก่บุคคลอื่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมนอกห้องเรียนกับบริษัทระดับโลก ที่พี่ ๆ และอาจารย์ที่ ม.กรุงเทพ ชักชวนและช่วยสนับสนุน

ม.กรุงเทพ

รู้ทันหัวขโมยในโลกไอที

พีรณัฐ อุณหะนันทน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และตัวแทนนักศึกษาโครงการ Microsoft Learn Student Ambassadors เล่าถึงเส้นทางการเรียนในสายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของเขาว่า ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมอยู่แล้ว เลยทำให้รู้ว่าในวงการไอทีมีความต้องการบุคลากรในสายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สูงมาก เพราะทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการเจาะระบบขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การแฮกเว็บไซต์ธนาคาร หน่วยงานราชการ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีบุคลากรทางด้านนี้อยู่เลย ผมจึงมองหามหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านนี้โดยตรง

ตอนแรกผมมีตัวเลือกอยู่สองมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายที่เลือกมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะที่นี่สามารถบริหารเวลาเรียน ควบคู่ไปกับการทำงานได้ง่ายกว่า และรุ่นพี่โปรแกรมเมอร์ที่ทำงานด้วยกันได้อ่านหลักสูตรและวิชาที่สอนก็เห็นตรงกันว่า มีการออกแบบหลักสูตรการสอนที่ยอมรับได้

การเรียนในสายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ โดยพื้นฐานทุกคนจะต้องเขียนโปรแกรมเป็น แต่เพิ่มเข้ามาคือเรียนรู้เรื่องการเจาะระบบ และการป้องกันระบบไปพร้อม ๆ กัน เมื่อเรียนจบไปแล้วเรายังสามารถเลือกได้ว่า จะทำงานเป็นผู้ทดสอบระบบไอทีขององค์กร หรือเลือกทำงานในสายป้องกันระบบ

ท้ายที่สุด ดร.พัฒนพลกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า ความรู้ในสาขาโปรแกรมเมอร์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และวิทยาการข้อมูล มีความต้องการในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก เป็นหนึ่งในทางออกสำหรับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพที่จะไม่ถูก Digital Disruption กลืนกิน เฉกเช่นในยุคสมัยหนึ่ง ที่เราทุกคนเคยปรับตัวจากการใช้งานเครื่องมือในยุคแอนะล็อก จากเครื่องพิมพ์ดีด และกระดาษ มาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนทั้งหมด คนที่ปรับตัวทำงานกับเครื่องมือ และความต้องการใหม่ ๆ ได้ คือผู้ที่จะอยู่รอดไปสู่โลกในศตวรรษใหม่ได้อย่างมั่นคง

ม.กรุงเทพ

ม.กรุงเทพ