ห่วงปี’66 เด็กออกจากโรงเรียนกลางคันพุ่งกว่า 80% เหตุครอบครัวยากจน

โรงเรียน ห้องเรียน
ภาพ : pixabay

เด็กลาออกจากโรงเรียนกลางคัน ปี 2565 มากกว่าแสนราย ห่วงปี 2566 พุ่ง 80% โดยเฉพาะ ม.4 ปวช.ออกเยอะสุด เหตุครอบครัวยากจน

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดพบปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือตัวเลขเด็กดรอปเอาต์ หรือเด็กออกกลางคันที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตลอดปี 2565 พบว่ามีอยู่กว่า 1 แสนคน

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ครอบครัวยากจนอย่างแท้จริง แม้จะกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว แต่พอเรียนไปไม่นานก็ออกจากระบบการศึกษาอีก เพราะมีปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน จึงมอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดไปดูรายละเอียด และหารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนแต่ละบุคคล เพราะการเรียนในรูปแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

ดังนั้นจึงต้องปรับวิธีการเรียนการสอน เช่น บางคนมีเวลาเรียน 2 วันต่อสัปดาห์ ที่เหลืออาจจะต้องไปใช้วิธีการอื่นเพื่อจูงใจให้ได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยอาจจะเน้นในเรื่องการเรียนเพื่อมีงานทำ สร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับวิธีการ เพราะเด็กอาจไม่อยากเรียนรู้ในรูปแบบเดิม วิธีการเรียนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน 100%

โดยอาจหาวิธีที่เหมาะสมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดหลักสูตรระยะสั้น เรียนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน เปิดให้มีการเทียบโอนหน่วยกิต เป็นต้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังเดินหน้าดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามโครงการพาน้องกลับมาเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจตัวเลขว่ามีเด็กที่กลับเข้ามาเรียนตามโครงการดังกล่าว และหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไร เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

ซึ่งจะต้องรอข้อมูลจำนวนผู้เรียนทั่วประเทศ ที่จะมีรายงานเข้ามายัง สพฐ. ทุกวันที่ 10 มิถุนายนของทุกปี จึงจะสามารถประเมินสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไปได้ แต่เบื้องต้นยืนยันว่า สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเพื่อพากลับเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง

ห่วงยอดลาออกพุ่ง 80%

ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีมากกว่า 1 แสนราย โดยส่วนตัวมองว่าโครงการพาน้องกลับมาเรียนเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่มีระบบการติดตามช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การหางานให้ทำ เป็นต้น

ส่งผลให้เด็กที่มีครอบครัวยากจน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกครั้ง คาดว่าปี 2566 นี้ตัวเลขดรอปเอาต์จะเพิ่มขึ้นกว่า 80% และจะเป็นเช่นนี้วนเวียนต่อเนื่อง

โดยกลุ่มเด็กที่ออกกลางคันมากที่สุดคือ กลุ่มที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และกำลังจะเรียนต่อชั้น ม.4 และประดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อหัวค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยทุกระดับ รายละ 18,732 บาทต่อคนต่อปี แต่ถ้าเฉพาะกลุ่ม ม.3 ขึ้น ม.4 หรือระดับ ปวช. จะสูงขึ้นอยู่ที่ 40,000-70,000 บาทต่อคนต่อปี

ขณะที่ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยเฉลี่ยเดือนละ 3,000-6,000 บาทต่อเดือน และในจำนวนนี้กว่า 25% มีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเฉลี่ยรายละ 147,000 บาท และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจ การค้าขายและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าที่ควร

“จากสาเหตุทั้งหมดในข้างต้น เป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ปีนี้จะมีตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นถึง 80% แม้ ศธ.จะมีการติดตามเด็กกลับเข้ามาเรียนต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มีระบบติดตามช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้จนจบการศึกษา เพราะปัจจัยเรื่องปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้นควรวางแผนแก้ปัญหา นอกจากจะพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว ควรหาทุนการศึกษา หรือวางแผนให้เด็กมีอาชีพระหว่างเรียน เพื่อให้สามารถทำงานเลี้ยงตัวเอง และช่วยเหลือครอบครัวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา”