เปิด 5 จังหวัดพบเด็กลาออกจากโรงเรียนกลางคันมากที่สุด

นักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ หาแนวทางแก้ปัญหาเด็กลาออกจากโรงเรียนกลางคัน 5.2 หมื่นคน อาชีวะ กศน.น่าห่วง ยังไม่มีเครื่องมือช่วยติดตาม พร้อมเปิด 5 จังหวัดเด็กลาออกจากโรงเรียนกลางคันมากสุด 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 มติชน รายงานว่า นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ.มีการรวบรวมข้อมูลนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัด พบตัวเลขเด็กออกกลางคัน 52,808 คน แบ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 21,364 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 7,138 คน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2,428 คน และนักเรียน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร 897 คน และระดับอาชีวศึกษา 20,981 คน

จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 12,223,247 คน เป็นนักเรียนในสังกัด ศธ. 10,477,216 คน และนอกสังกัด ศธ. 1,746,031 คน 

ขณะที่ สพฐ.และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตัวเลขดังกล่าวนั้น โดยตัวเลขดังกล่าวรายงานมาจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณ ในการของบฯสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนแต่ละสังกัด ดังนั้นตัวเลขดังกล่าว จึงค่อนข้างแม่นยำ เนื่องจากก่อนรายงานจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อป้องกันปัญหาเด็กผี หรือนักเรียนซ้ำซ้อนกับสังกัดอื่น

ตัวเลขเด็กอาชีวะ กศน.น่าห่วง

“ตัวเลขเด็กออกกลางคันของ สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ค่อนข้างน่ากังวลมากกว่า สพฐ. เพราะยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบจากตัวเลขบัตรประชาชน ป้องกันไม่ให้ซ้ำซ้อนในแต่ละสังกัด

แต่ในส่วนของ กศน.ก็ยังไม่มั่นใจว่ากลุ่มที่ออกกลางคันเป็นเด็ก กศน.จริงหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นกลุ่มเด็กชายขอบ ที่มีปัญหาความยากจนและมีปัญหาอ่านออกเขียนได้แล้วยังไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา หรือเป็นเด็กกลุ่ม NEET ซึ่งไม่ได้เรียน หรือไม่ได้ทำงาน ซึ่งงานวิจัยพบว่าที่มีอยู่มากถึง 1.3 ล้านคน ตรงนี้อาจเป็นตัวเลขที่สูญหายและยังไม่อยู่ในการรายงานผล เพราะยังไม่มีเครื่องมือไปตามตัวเลขเด็กเหล่านั้น”

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า การที่มีข้อมูลดังกล่าวออกมา ถือเป็นเรื่องที่ดีในการวางแผนงบประมาณรายหัว ในปีถัดไปรวมถึงวางแผนการเพิ่มผู้เรียน อาทิ การส่งเสริมให้เด็กไปเรียนอาชีวะ จะต้องมีความชัดเจนเรื่องเส้นทางสายอาชีพให้มากขึ้น เป็นต้น

พบ 5 จังหวัดเด็กออกกลางคันมากสุด

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ส่วนที่ทาง สพฐ.และ สอศ.ระบุว่า สามารถแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน โดยพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามโครงการพาน้องกลับมาเรียนได้แล้วจำนวนมากนั้น ตัวเลขที่ สพฐ.และ สอศ.ได้รับมาก็เป็นตัวเลขจริง เพียงแต่หลังจากพาน้องกลับมาเรียนแล้ว เมื่อเรียนไประยะหนึ่ง เด็กบางส่วน ซึ่งมีปัญหายากจนก็ออกจากระบบการศึกษาอีกครั้ง ตัวเลขเด็กออกกลางคันจึงมาปรากฏในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 เพื่อไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกลับมาพิจารณา ตนมอบหมายให้อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ออกไปให้ความรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเหล่านี้อ่านออก เขียนได้ สร้างอาชีพ

โดยจากการสำรวจ พบว่า จังหวัดที่มีเด็กออกกลางคันมากที่สุด อันดับ 1 คือ จังหวัดนราธิวาส อันดับ 2 เพชรบูรณ์ อันดับ 3 อุบลราชธานี อันดับ 4 สระแก้ว และอันดับ 5 ปทุมธานี 

ทั้งนี้ เมื่อมีตัวเลขดังกล่าว แต่ละหน่วยงานจะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยปรับวิธีการเรียนใหม่ ครูออกไปหานักเรียน มีการจัดทำระบบเครดิตแบงก์ หรือธนาคารหน่วยกิต หรือขยายความร่วมมือกับสถานประกอบการ จัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาค ให้เด็กสามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้มากขึ้น

นักเรียนหลุดออกจากระบบ 1.2 แสนคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและสามารถ พากลับเข้าเรียนได้ ตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน ปีการศึกษา 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566 ดังนี้ 

สังกัด สพฐ.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 28,134 คน กลับเข้าระบบ 20,670 คน ส่งต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 0 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 7,464 คน ไม่กลับเข้าระบบ 7,368 คน เสียชีวิต 74 คน ตามตัวไม่พบ 22 คน 

สังกัด สอศ.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 18,609 คน กลับเข้าระบบ 3,456 คน ส่งต่อ พม. 0 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 15,153 คน ไม่กลับเข้าระบบ 14,831 คน เสียชีวิต 154 คน ตามตัวไม่พบ 168 คน 

สังกัด กศน.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 9,603 คน กลับเข้าระบบ 2,763 คน ส่งต่อ พม. 0 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 6,810 คน ไม่กลับเข้าระบบ 6,365 คน เสียชีวิต 43 คน ตามตัวไม่พบ 402 คน 

สังกัด สช.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 10,783 คน กลับเข้าระบบ 7,604 คน ส่งต่อ พม. 0 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 3,179 คน ไม่กลับเข้าระบบ 3,056 คน เสียชีวิต 123 คน ตามตัวไม่พบ 0 คน

ตัวเลขผู้พิการ สังกัด กศน.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 47,340 คน กลับเข้าระบบ 14,377 คน ส่งต่อ พม. 23,865 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 9,098 คน ไม่กลับเข้าระบบ 6,999 คน เสียชีวิต 2,099 คน ตามตัวไม่พบ 0 คน สังกัด สอศ.มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 7,173 คน กลับเข้าระบบ 6,553 คน ส่งต่อ พม. 0 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 620 คน ไม่กลับเข้าระบบ 555 คน เสียชีวิต 65 คน ตามตัวไม่พบ 22 คน 

รวมทุกสังกัด มีนักเรียนที่หลุดจากระบบรวม 121,642 คน กลับเข้าระบบ 55,453 คน ส่งต่อ พม. 23,865 คน คงเหลืออยู่นอกระบบ 42,324 คน ไม่กลับเข้าระบบ 39,174 คน เสียชีวิต 2,558 คน ตามตัวไม่พบ 592 คน