เปิดเทอม 15 พ.ค. กระทรวงศึกษาทบทวนภาษาพาที หนังสือเรียนทั้งระบบ

เปิดเทอม

ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ตรวจสถานศึกษาก่อนเปิดเทอมปีการศึกษา 2566 กำชับเตรียมรับมือโควิดระลอกใหม่ วางแผนรับมือสภาพอากาศ ทบทวนเนื้อหาบทเรียนทั้งระบบ

วันที่ 27 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงเรียนพญาไท กรุงเทพฯ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เตรียมพร้อมสถานที่-แผนรับมือโควิด

นางสาวตรีนุชกล่าวว่า ตนได้ตรวจเยี่ยมการเรียนปรับพื้นฐาน และการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียน ดำเนินการตามนโยบายได้เป็นอย่างดี ซึ่งการมาตรวจเยี่ยมวันนี้ต้องการกำชับให้ผู้บริหารและทางโรงเรียน เตรียมความพร้อมทั้งทางกายภาพ อาคารสถานที่ ครู บุคลากร งบประมาณ และมาตรการต่าง ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งโรงเรียนก็มีประสบการณ์และทราบมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว ปีนี้ก็ต้องร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้มีเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ร้อนจัด มีฝุ่น PM 2.5 และเร็ว ๆ นี้ก็น่าจะมีฝนตกร่วม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมให้นักเรียน จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งวางแผนการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม ผู้บริหารและครูต้องดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น โดยโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย ก็ต้องเชื่อมโยงทำงานร่วมกับ สธ.ด้วย

ตรวจตราการจัดการอาหารกลางวัน

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้น จึงขอกำชับให้โรงเรียนจัดสรรเงินอุดหนุนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตรงตามวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยเงินในส่วนที่ต้องส่งให้ผู้ปกครองนักเรียนซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนต้องดำเนินการโดยเร็ว ส่วนเรื่องอาหารกลางวันรัฐบาลก็ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน

ซึ่งขอให้เขตพื้นที่การศึกษาตรวจตราการจัดอาหารกลางวัน โดยเน้นย้ำเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมสอดรับกับวัยของเด็ก และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมให้เด็ก

สำหรับโครงการพาน้องกลับมาเรียน ปีที่ผ่านมาทำได้ดีแล้ว แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจอาจทำให้มีเด็กตกค้างก็ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนตรวจสอบว่านักเรียนที่หายไปปลายทางอยู่ที่ไหน เพื่อนำเด็กทุกคนกลับเข้าสู่การศึกษาไม่หลุดหายไปจากระบบ ซึ่งนอกจากสายสามัญศึกษาก็ยังมีการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และอาชีวศึกษารองรับอยู่

ทบทวนเนื้อหาบทเรียนทั้งระบบ

นางสาวตรีนุชกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องหนังสือเรียนปีนี้มั่นใจว่า จะจัดส่งถึงมือเด็กได้ทันเปิดเทอม เพราะได้มีการวางแผนเตรียมการไว้นานแล้ว ส่วนกรณีหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้น ป.5 ตอนนี้กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของเนื้อหานั้น ไม่อยากให้มองว่าเนื้อหาหนังสือทั้งเล่มใช้ไม่ได้เลย เพราะการเรียนภาษาไทยไม่ได้ใช้หนังสือเล่มนี้เล่มเดียว

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน มีเรื่องหลักการใช้ภาษาอยู่ด้วย และการเรียนก็มีครูช่วยวิเคราะห์อยู่ อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยสะท้อนมา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ จะได้กลับมาทบทวน เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราก็ต้องกลับมาทบทวนมากขึ้น โดยต้องดูความเหมาะสมกับช่วงเวลาด้วย แต่เชื่อว่าผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะสื่อสารไปอย่างที่เข้าใจกัน”

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการไปทบทวนสื่อทั้งหมดว่าจะมีวิชาอื่นอีกหรือไม่ที่ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม เพราะพอเกิดเหตุ สพฐ.ก็ไม่ได้ทบทวนแค่หนังสือชุดภาษาพาที แต่จะทบทวนทั้งระบบ ก็ต้องขอขอบคุณและพร้อมที่จะรับข้อเสนอมาทบทวน อย่างไรก็ตาม ปีการศึกษา 2566 นี้ หนังสือชุดนี้ก็ยังใช้อยู่ เพราะจะให้เปลี่ยนทันทีทำไม่ทัน เพียงแต่การใช้หนังสือครูต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณ