TK PARK ดันกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก

TK PARK

นับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park ) มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพคนไทย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 8 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี มีการปรับโฉมทั้งสถานที่ และระบบบริการต่าง ๆ

โดยเฉพาะการนำดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การหยิบยืมหนังสือมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ขยายเครือข่ายออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ตอนนี้ครอบคลุมกว่า 25 จังหวัด และมีเครือข่ายมากกว่า 32 แห่ง

ปัจจุบันเพิ่งเปิด TK Park ใหม่อีกหนึ่งแห่งที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” รวมถึงขยายพื้นที่การเรียนรู้สู่ชุมชน รวมทั้งผ่านช่องทางการสื่อสารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แก่ ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ ขณะนี้พร้อมทดลองเปิดให้บริการเพื่อเป็นต้นแบบแล้ว 1 แห่ง ณ สยามสแควร์

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 TK Park ยังกำหนดเป้าหมายสำคัญเอาไว้อีกหนึ่งเป้าหมาย คือ การผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ด้วยการจัดงานเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ หรือ Learning Fest Bangkok 2023 ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2566 ก่อนจะขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ

กิตติรัตน์ ปิติพานิช
กิตติรัตน์ ปิติพานิช

ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้คนไทย

“กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) กล่าวว่า เราเป็นหน่วยงานรัฐ ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้คน โดยสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้หลัก ๆ คือ การมีห้องสมุด และการมีหนังสือ สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ปัจจุบัน TK Park มีเครือข่าย 32 แห่ง กระจายอยู่ 25 จังหวัด

บางจังหวัดมีมากกว่า 1 แห่ง ทั้งยังไม่รวมเครือข่ายขนาดเล็กที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์อีก 200-300 แห่ง เช่น ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 108 แห่ง กรมราชทัณฑ์ 10 แห่ง ฯลฯ

ADVERTISMENT

“การดำเนินงานที่ผ่านมา เราขยายเครือข่ายออกไปหลายแห่ง และมีการพัฒนาหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมระบบโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูล big data ของ TK Park ทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กำลังทยอยทำ เราวางแผนว่าข้อมูลต่าง ๆ จะสามารถเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ต่อไปนี้เราจะรู้ว่าใครใช้หนังสืออะไร สื่ออะไร ในพื้นที่ไหน ในปริมาณเท่าไหร่ และช่วงเวลาไหน

พูดง่าย ๆ เราจะรู้พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนไทยที่อยู่ในเครือข่ายของเรามากขึ้น เพราะการเชื่อมโยงฐานระบบนี้ ช่วยให้เราจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ เราเชื่อว่าระบบที่กำลังสร้างอยู่ น่าจะช่วยผลักดันให้คนไทยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น”

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังทำตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติใจกลางเมืองที่สยามสแควร์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่จะใช้ศึกษาถึงพฤติกรรมผู้ยืม และการบริหารจัดการว่าเป็นอย่างไร เบื้องต้นจะมีหนังสือให้ยืมประมาณ 300 เล่มต่อตู้ และมีการเติมหนังสือทุกวันขึ้นอยู่กับปริมาณการยืมว่าจะมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน หนังสือจะมีความหลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามจุดหรือย่านที่ตั้ง เช่น หนังสือเรียน หนังสือสำหรับวัยรุ่น หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น คาดว่าจะใช้เวลาในการวัดผลราว 6 เดือน ก่อนจะนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และขยายไปตั้งในจุดต่าง ๆ รวมทั้งการหาพันธมิตร เครือข่ายเพิ่ม เพราะการตั้งตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

TK Park

กรุงเทพฯเมืองแห่งการเรียนรู้

“กิตติรัตน์” กล่าวต่อว่า นอกจากหนังสือ หรือสื่อการเรียนรู้ในห้องสมุด หนึ่งในตัวช่วยสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ TK Park จะนำมาใช้ คือ Learning City ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities-GNLC) เหตุผลที่ยูเนสโกสร้าง Learning City ขึ้นมา

เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 จำนวนประชากรโลกที่อาศัยในเขตเมืองจะสูงถึงร้อยละ 60 ยูเนสโกจึงสร้างแนวทางการสนับสนุนให้เมืองเกิดกระบวนการในการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมศักยภาพของผู้คนให้ก้าวไปอย่างเท่าทัน ผ่านการสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก

“ผมคิดว่าโครงการนี้จะช่วยซัพพอร์ตได้มาก เพราะประเทศไทย ตอนนี้มีโครงการเยอะมาก ทั้งเรื่อง smart city, creative city, digital economy, creative economy, BCG ฯลฯ แต่แก่นกลางของโครงการที่กล่าวมาที่ท้าทายที่สุดเลยคือ คุณภาพของคน ซึ่งถ้าเราซัพพอร์ต ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาคน

ตรงนี้จะไปตอบโจทย์ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ TK Park อยากสนับสนุนให้หลาย ๆ จังหวัดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ซึ่งทุกเมืองไม่ว่าจะเมืองเล็ก หรือเมืองใหญ่ สามารถเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้หมดเลย”

แต่ตอนนี้ประเทศไทยมี 7 แห่งที่เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแล้ว ได้แก่ เชียงราย, ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, หาดใหญ่ สงขลา, สุโขทัย, พะเยา และเชียงใหม่ และกำลังจะประกาศรายชื่อเครือข่ายใหม่ วันที่ 8 กันยายนนี้ เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการรู้หนังสือ

คาดว่าจะเป็น กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, ยะลา เป็นต้น จึงเป็นเหตุผลทำให้จัดเทศกาลแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้คนไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเริ่มจัดที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก และเป็นครั้งแรกอีกด้วย

TK Park

เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ

“กิตติรัตน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า งานเทศกาลนี้เกิดจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งภาคีเครือข่ายการเรียนรู้อีกมากมาย อาทิ ชุมชนบ้านครัว, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, Jim Thompson Art Center, สำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, Creators Garten, เซ็นทรัลเวิลด์ และอีกมากมาย

ซึ่งคาดว่าเทศกาลดังกล่าวจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง ประชาชนคนทั่วไป ทุกช่วงวัย สอง ชุมชน สถานศึกษา ภาคธุรกิจ กลุ่มคนที่มีความต้องการหลากหลายที่อยากแชร์ความรู้ทั่วไป และกลุ่มสุดท้ายคือเมือง

เราอยากให้เมืองมีส่วนร่วม เพราะเมืองควรมีนโยบายชัดเจนว่าจะส่งเสริมให้คนได้เรียนรู้อย่างไร เพื่อไปตอบโจทย์สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งเมืองในที่นี้ก็คือคน และคนก็คือเมือง ถ้าคนไม่มีคุณภาพ เมืองก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย ฉะนั้น เป้าหมายที่เราสร้างทั้งหมดจะกลับไปที่คนอยู่ดี เพราะเราอยากให้คนมีศักยภาพแห่งการเรียนรู้

ชวนคนไทยตั้งคำถาม

นอกจากนั้น “กิตติรัตน์” ยังกล่าวถึงธีมของงาน คือ “Wonderlearn สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ” หมายถึงการส่งเสริมให้คนรู้จักตั้งคำถาม ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องบ้านเมือง ผมเห็นแนวโน้มผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดงาน และตั้งธีมนี้ เพราะผมเชื่อว่าการสร้างคำถามที่ดี จะนำพาไปสู่คำตอบที่สร้างสรรค์ได้ กิจกรรมจะมีการจัดทั้งอินดอร์ เอาต์ดอร์

เพราะการออกไปข้างนอก เห็นสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จะชวนให้เราสงสัยและตั้งคำถามได้ดี เช่น เราเคยสงสัยไหมว่าถนนเส้นที่กำลังใช้ ใครเป็นเจ้าของบ้าง ฟุตปาทที่เราเดินอยู่ในอาณาเขตของใคร เวลาเกิดอุบัติเหตุจะต้องไปฟ้องใคร

ดังนั้น เทศกาลนี้จะมีกิจกรรมกระจายอยู่ในพื้นที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ แต่จะเน้นที่ย่านปทุมวันเป็นหลัก มีทั้งความบันเทิง ศิลปะ การพูดคุย เป็นต้น

ฝากรัฐบาลส่งเสริมคนเรียนรู้

“กิตติรัตน์” กล่าวด้วยว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีศักยภาพ ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราเลือกจัดเทศกาลนี้เป็นที่แรก และจะขยายไปยังที่อื่น ๆ ซึ่งเราจะสนับสนุนทุกเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องส่งการบ้านทุก 2 ปี ถ้าไม่ทำเขาตัดรายชื่อออก จึงต้องมีแผนชัดเจน โฟกัสเรื่องอะไรบ้าง เพราะแต่ละเมืองมีความท้าทายไม่เหมือนกัน

“ทั้งหมดคือแผนที่เราจะก้าวต่อไป ซึ่งผมอยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ของผู้คนจริง ๆ ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว

กรมนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่พอดี สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น TK Park จึงต้องเข้าไปดูว่าเขาทำอะไรบ้าง เพราะความรู้ทุกวันนี้มาจากข้างนอกทั้งนั้น ไม่ใช่ในห้องเรียน”

นอกจากต้องไปค้นหาด้วยตนเอง TK Park จะร่วมกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรเข้าหาผู้คนมากขึ้น และภาครัฐก็ต้องตระหนักว่าการศึกษากระแสหลักจะปรับตัวอย่างไร