ภารกิจ TK Park อัพสกิลคนไทยก้าวทันสังคมโลก

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้

“แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้จำนวนผู้เข้าใช้บริการ TK Park (สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park) ที่ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีจำนวนลดลงไปบ้าง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม”

“แต่ยอดการเข้าใช้บริการห้องสมุดออนไลน์ (online library) ที่รวบรวม eBook, audio book, eMagazine, course online จากสำนักพิมพ์ชั้นนำ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 3 แสนราย ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นหลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้วันนี้ TK Park ต้องเดินหน้าพัฒนาบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคน และการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น”

คำพูดเบื้องต้นเป็นคำกล่าวของ “กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ที่เล่าให้ฟังถึงภารกิจของ TK Park ในโอกาสครบรอบ 16 ปี หลังจากนี้จะเดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้ของคนไทยมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง และใช้กระบวนการคิดนำมาใช้สร้างประโยชน์ให้กับตนเอง

“กิตติรัตน์” กล่าวว่าแม้ผ่านมาจะถูกปิดบริการชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์บ้าง เพราะอย่างที่ทราบ TK Park คือศูนย์กลางการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ให้บริการยืมหนังสืออย่างเดียว แต่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้คนไทยหลายรูปแบบ

เช่น กิจกรรม “แนะให้แนว” ที่เป็นการแนะแนวนักเรียน, นักศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพต่าง ๆ ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ และขณะนี้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเรายังจะพัฒนาระบบบริการใหม่ ๆ อย่างกิจกรรมแนะให้แนว ต่อไปอาจจะมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปด้วย เพราะผมมองว่าพวกเขากลุ่มนี้ก็อาจต้องการการแนะแนวเช่นกันก็อยู่ในกระบวนความคิดอยู่

“แต่เราจะเน้นไปที่การส่งเสริมการอ่าน ซึ่งสถานการณ์การอ่านหนังสือของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากที่เราบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดต่อปี ตอนนี้เป็น 80 นาทีต่อวัน แต่ไม่ได้หมายถึงอ่านหนังสือกระดาษอย่างเดียว ยังรวมถึงตัวหนังสือที่อยู่บนโลกโซเชียลต่าง ๆ ด้วย”

“ดังนั้น เนื้อหาที่คนไทยอ่านก็จะมีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้างก็ตาม ถ้าโฟกัสไปที่หนังสือเล่ม จากสถิติการยืมหนังสือของสมาชิก TK Park พบว่าหนังสือที่คนนิยมยืมไปอ่าน อันดับ 1 คือ ประเภทนิยาย ทั้งนิยายแนวโรแมนติก นิยายแนวสืบสวนสอบสวน รวมถึงแนวฆาตกรรมที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มใหญ่ยังคงอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียด”

“ผลดังกล่าวสามารถตีความได้ว่าในชีวิตประจำวันมีแต่ความตึงเครียด ผู้คนจึงต้องการพาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง”

“รองลงมาเป็นหนังสือกลุ่มจิตวิทยา หมวด self development การพัฒนาตนเอง, การบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ, การเล่นหุ้น และการลงทุน แต่ถ้าเป็นห้องสมุดออนไลน์ระบบอีบุ๊ก ผู้เข้าใช้บริการมักเป็นกลุ่มคนวัยทำงานมากกว่า ส่วนใหญ่จะอ่านแนว self development เช่นเดียวกัน ชี้ให้เห็นชัดว่าสถานการณ์โควิดทำให้คนสนใจที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่า TK Park มีหนังสือสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย มากมาย เราพยายามหาหนังสือตอบโจทย์สิ่งที่คนอยากรู้ได้ตรงจุด”

“ขณะเดียวกัน คนต้องรู้จักตัวเองก่อน รู้จักการวางเป้าหมาย เราพยายามชิปให้สมาชิกอ่านแบบมีเป้าหมาย แล้วเลือกอ่านหนังสือที่มันเหมาะกับตัวเอง เพื่อที่จะเอาไปส่งเสริมหรือต่อยอดตัวเองในอนาคตได้ การอ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ทักษะความคิดด้วย เพราะคือทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน”

“เพราะถ้าอ่านอย่างเดียว แล้วไม่คิดตาม อ่านแล้วเอาไปทำอะไร ซึ่งเราพยายามใช้แอปพลิเคชั่นที่เป็น e-Library มีระบบการเสิร์ช มีระบบการช่วยแนะนำหนังสือ เช่น เคยอ่านอะไรมายังไง คุณจะไปต่อยอดอะไร ก็จะแนะนำขึ้นมาได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะปรับปรุง อัลกอรึทึมอีบุ๊กของเราอยู่”

“กิตติรัตน์” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรายังอัพเดตนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ อาทิ TK Online Library, Overdrive และ Libby by Overdrive แอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหนังสือภาษาต่างประเทศออนไลน์

มีให้บริการทั้ง eBooks, audio books และ online courses มาไว้ในมือช่วยให้สมาชิกห้องสมุดทั่วโลกอ่านหนังสือต่างประเทศยอดนิยมกว่า 16,000 รายการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และอีกหลาย ๆ อย่าง

“เพราะตอนนี้เราอยู่ในอุตสาหกรรมของการพัฒนาคน การจะสร้างศักยภาพของคนให้สูงขึ้น เราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ต้องมีการเชื่อมต่อกัน แชร์ข้อมูลกันจาก TK Park ในที่ต่าง ๆ เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้ทุกห้องสมุดต้องซื้อหนังสืออะไรมากมาย แต่ให้รู้จักแชร์ข้อมูลกัน แชร์ทรัพยากรกัน แชร์กิจกรรมกันได้ ต่างคนจะสามารถจะสร้างยูนิตพอร์ตของตัวเองได้”

“ผมคิดว่าด้วยวิธีการแบบนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน TK Park ที่มีเครือข่ายในประเทศจะมีรีซอร์ซที่เพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ รวมกันเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ และรวมหนังสืออยู่ในก้อนเดียวกันที่สามารถเอามาแชร์กันอยู่ตรงกลางได้ นี่คือเป้าหมายในระยะยาว ถือเป็นภารกิจที่แชลเลนจ์มาก”

“ทั้งนั้นเพราะฐานความรู้ประเทศไทยเรามีเยอะ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงข้อต่อต่าง ๆ ทุกมหาวิทยาลัยมีหนังสือ มีงานวิจัยดี ๆ ในห้องสมุดเยอะมาก แต่บางครั้งก็มีลิมิต ให้เข้าไปใช้งานได้เฉพาะคนของตัวเอง แสดงว่าการเข้าถึงคอนเทนต์เนื้อหาดี ๆ ยังยากอยู่ ผมว่าควรจะทำให้ง่ายขึ้น และบางเรื่องก็ติดลิขสิทธิ์ การกำจัดการเข้าถึงบ้าง เราต้องฝ่าตรงนี้ไปให้ได้”

ตอนนี้สิ่งที่เป็นแชลเลนจ์ของ TK Park คือการพยายามรวมคอนเทนต์ดี ๆ ไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้คนสามารถค้นหาได้ง่าย ๆ เหมือนกูเกิล ไม่ใช่แค่ชื่อเรื่อง แต่จะเป็นสามารถเสิร์ชหาคำ หรือประเด็นที่อยู่ในหนังสือได้ด้วย

“ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องของการใช้เอไอ และพยายามไปให้ไกลถึงขั้นนั้น ขณะเดียวกัน ก็พยายามลดกำแพงการเรียนรู้ลง เพื่อให้คนเข้าถึงมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเทรนด์ตอนนี้คือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผมว่ารัฐต้องลงทุนกับการศึกษาที่สนับสนุนให้คนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ไม่ต้องไปโฟกัสแค่การศึกษาภาคบังคับอย่างเดียว”

“ที่สำคัญ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย เพราะการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อจะอัพสกิลให้เป็นคนที่เท่าทันโลกในปัจจุบันคือเราต้องรู้ใจตัวเอง รู้จักว่าตัวเองอยากจะทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร เป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ และทำได้ดี ยิ่งเฉพาะเป็นสิ่งที่คนอื่นให้คุณค่าด้วย สังคมต้องการด้วย และถ้าดีไปกว่านั้น ควรเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีรายได้ จึงจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาตนเอง จากนั้นค่อยมาหาหนังสือ หรือคลาสที่สนใจ”

“กิตติรัตน์” กล่าวในตอนท้ายว่า บางคนชอบเที่ยวก็ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยว แล้วเมื่อทำได้ดี ก็จะมีเงินตามมา มีคนจ้างงานรีวิวสถานที่ ถ้าเจอโมเดลที่ตรงกับตัวเองมันถือว่าโชคดีมาก ยิ่งเทรนด์ตอนนี้คือคนจะทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้น หลังโควิด-19 คนลาออกจากงานออฟฟิศเยอะมาก และไม่กลับเข้าสู่ระบบออฟฟิศอีกแล้ว ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องปรับตัว

“สิ่งเหล่านี้ทาง TK Park พร้อมที่จะให้องค์ความรู้ทั้งหมด แต่เป้าหมายแรกคุณต้องหาด้วยตัวเอง เพราะถ้าคุณสามารถออกแบบชีวิตตนเองได้ การจะพัฒนาขึ้นมา ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากมากนัก เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากทำ ไม่มีใครมาบังคับ”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว