อเด็คโก้จัด “โค้ช” ให้นักศึกษา ช่วยหาตัวตนเพื่อเจออาชีพที่ใช่

ช่วงก่อนเรียนจบน่าจะเป็นรอยต่อสำคัญของว่าที่บัณฑิต เพราะเป็นห้วงเวลาของการตัดสินใจว่าจะเดินไปในอาชีพใด หลังก้าวพ้นจากรั้วสถาบันอุดมศึกษา กระนั้น นักศึกษาจบใหม่หลายคนก็ยังไม่มีทิศทางหรือไม่รู้ความต้องการของตัวเองว่าอยากจะเข้าไปอยู่ในอาชีพไหน

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลในการให้คำปรึกษา และพัฒนาศักยภาพผู้สมัครงาน กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทยจึงจัด Adecco Career Club ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมที่จะช่วยให้นักศึกษาจบใหม่ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพ

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์

“ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์” ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค- ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทยให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการว่า ปกติแล้วอเด็คโก้มีโครงการ way to work ที่ไปจัดตามโรงแรมหรือมหาวิทยาลัย โดยมีกิจกรรมอย่างการแนะนำการเขียนเรซูเม่ เทคนิคการสัมภาษณ์งาน รวมถึงมี career coach day ซึ่งนำ consultant ของอเด็คโก้ไปโค้ชให้กับนักศึกษาแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาให้ความสนใจมากที่สุด เพราะได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

“เรามองว่าการเลือกแผนหรือสาขาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของตัวเอง อาจจะมีการเลือกเรียนตามเพื่อน หรือความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพราะเหมือนเขาไม่มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน”

“อเด็คโก้จึงมาโค้ชให้พวกเขา แต่การโค้ชในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการพูดคุยคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งไม่สามารถรองรับความต้องการของน้อง ๆ ได้ทั้งหมด เราจึงขยับมาจัดกิจกรรมในออฟฟิศ เพื่อจัดการโค้ชได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น”

สำหรับกิจกรรม career coach day ที่อเด็คโก้เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เปิดรับนักศึกษาชั้นปี 4 มาร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน โดยมีกิจกรรมหลักคือ one-on-one career coaching ผ่าน consultant มืออาชีพของอเด็คโก้อาสาที่มาให้คำปรึกษาด้านอาชีพ พร้อมแนะเทคนิคการเขียนเรซูเม่และสัมภาษณ์งาน ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมการทำนาย talent sort cards ซึ่งการ์ดจะบอกว่าอาชีพใดที่เหมาะกับนักศึกษานั้น ๆ

“ครั้งนี้เรามีโค้ช 12 คน โดยก่อนที่จะเจอโค้ชแบบตัวต่อตัว เราได้จัดทำ expert test เป็น psychology test ของอเด็คโก้ที่จะพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ can do ความสามารถในการทำงาน หรือทักษะที่มี, will do ดูทัศนคติว่าเขาอยากทำงานที่เลือกหรือไม่ และ will fit ดูว่าสิ่งที่เขามีกับงานที่มีนั้นเหมาะกันหรือไม่ โดยเราให้เขาทดสอบแบบออนไลน์ ก่อนที่จะมีคนแปลผลให้ฟัง ทำให้น้อง ๆ ได้รับทราบว่าตัวเองมีโปรไฟล์อย่างไร”

“ธิดารัตน์” บอกว่า consultant ที่มาทำหน้าที่เป็นโค้ชจะต้องปรับบทบาทใหม่ เพราะปกติแล้วคนกลุ่มนี้คือคนตรงกลางที่ต้องดูผลประโยชน์ระหว่างบริษัทที่หาคนไปทำงานด้วย และ candidate ที่มาหางานกับอเด็คโก้ กล่าวได้ว่าหน้าที่ของเขาคือต้องบาลานซ์ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทได้คนที่ดีที่สุดไปทำงาน และ candidate ได้งานที่ใช่

“เมื่อมาเป็นโค้ช จุดโฟกัสไปอยู่ที่คนหางานคนเดียว ดังนั้น consultant ที่เราเลือกมาต้องถูกเทรนจากโค้ชที่ได้รับการรับรองมาก่อน เพื่อจะได้มีทักษะหรือความคิดของความเป็นโค้ช โดยการโค้ชตัวต่อตัวให้กับนักศึกษา เขาจะดึงศักยภาพและตัวตนของน้อง ๆ ออกมา พร้อมค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เขาทำแล้วมีความหมาย มีความสุข หรือเป็นสิ่งที่ทำแล้วถนัด”

อเด็คโก้วางแผนว่าจะจัดกิจกรรม career coach day ทุกไตรมาส ไตรมาสละครั้ง นอกจากนี้จะต่อยอดกิจกรรมด้วยการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปในการพัฒนาศักยภาพคนทำงานในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หรือทำ soft skill training เพื่อร่วมแก้ปัญหาการว่างงานระยะยาวและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้สมัครงาน

ทั้งนั้น “ธิดารัตน์” สะท้อนภาพการสมัครงานของคนรุ่นใหม่ว่า อาชีพที่พวกเขาสนใจหรืออาชีพยอดนิยมจะเกี่ยวกับด้านดิจิทัล หรือธุรกิจสตาร์ตอัพ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่คนนิยมทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ติดท็อป 5 ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจขนาด และชื่อเสียงขององค์กรแต่พวกเขาต้องการธุรกิจใหม่ ๆ ที่โดนใจ และเป็นบริษัทที่เป็น growing sector

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ชอบไปอยู่ในบริษัทที่มีลักษณะธุรกิจเป็นเหมือนตัวกลาง หรือเอเยนซี่ เพราะต้องการเจอกับธุรกิจหลากหลายประเภท ทำให้มองเห็นข้อมูลว่าธุรกิจไหนที่น่าสนใจ หลังจากนั้นเขาจะตัดสินใจเลือกไปทำงานกับธุรกิจที่เขาชอบ

“สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังหางานทำ นอกจากทักษะทางวิชาชีพที่ต้องมีแล้ว จะต้องมีทักษะด้านการสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษและการสื่อสารกับผู้อื่นได้รู้เรื่องและเข้าใจ เพราะแม้จะมีทักษะอื่น ๆ ดีแค่ไหน แต่หากขาดทักษะการสื่อสารก็จะหางานได้ยาก เพราะปัจจุบันนี้องค์กรเลือกคนจาก soft skill ด้วย”