ซอฟต์แวร์พาร์ค สร้างคนรุ่นใหม่สตาร์ตอัพ

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม Demo Day นำเสนอแนวคิดผลงาน 9 ทีมสุดท้ายในโครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น (Digital Innovation Startup Apprentice)

“เฉลิมพล ตู้จินดา”Ž
ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช.ให้รายละเอียดของโครงการว่า มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสการฝึกงาน และสร้างทักษะสำหรับนักศึกษา นักศึกษาจบใหม่ หรือนักพัฒนาอิสระ โดยมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้านการสร้างผลงานนวัตกรรมดิจิทัลต้นแบบเพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ด้วยหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเติบโตไปเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคตได้

“โครงการเปิดรับสมัครนักศึกษา ผู้สนใจและมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก และนักศึกษาที่ต้องการฝึกงานในสถานประกอบการ ซึ่งโครงการสามารถออกหนังสือรับรองการฝึกงานให้ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล บริหารธุรกิจ การตลาด การออกแบบ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารธุรกิจ เกษตร เป็นต้นŽ”

ตลอดจนผู้จบการศึกษาใหม่ หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ซึ่งจัดอบรมทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจที่จำเป็นสำหรับการเป็นสตาร์ตอัพไปแล้วกว่า 112 คน จาก 68 โครงการ ทั้งยังได้คัดเลือกทีมที่มีความพร้อมจำนวน 9 ทีมสุดท้าย เข้าร่วมกิจกรรม Demo Day ซึ่งเวทีดังกล่าวจะช่วยสร้างประสบการณ์การนำเสนอผลงานอย่างเป็นทางการ เพื่อคว้าเงินสนับสนุนสำหรับผลงานที่สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้จำนวน 3 ทีม ทีมละ 30,000 บาท ทั้งยังมีโอกาสพบปะลูกค้า พบเจอนักลงทุน และสตาร์ตอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ

”นอกจากนั้น ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอันประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร (Food & Agri. Tech) นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Tech) นวัตกรรมการบริการและสื่อ (Service Tech) นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (Health Tech) และระบบควบคุมอัตโนมัติ และ Internet of Things (Industry 4.0) ตามนโยบาย Thailand 4.0Ž”

ทั้งนี้ 9 ทีม ที่ร่วมนำเสนอผลงาน ได้แก่ 1.Beauty Click (เว็บไซต์หาช่างแต่งหน้าทำผม) ประเภทเพิ่งจบการศึกษา (ไม่เกิน 2 ปี) จาก ม.แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และ ม.เกษตรศาสตร์ 2).Everysale (แอปรอคิวร้านอาหารบุฟเฟต์) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.ขอนแก่น 3.ZSAPCE (ระบบค้นหาและจองร้านกาแฟหรือร้านอาหาร) ประเภทนิสิตนักศึกษา จากจุฬาฯ

4.PINTO (แอปบริการส่งอาหารกลางวันจากร้านดัง) ประเภทเพิ่งจบการศึกษา (ไม่เกิน 2 ปี) จาก ม.รังสิต 5.WASHS EASY (แอปเติมเงินออนไลน์เพื่อใช้ในการจ่ายค่าบริการซักผ้า) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.ขอนแก่น 6.Worldrounding (แอปหาและจองห้องพัก) ประเภทนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน จาก ม.ศรีปทุม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Advertisment

7.TESR (สอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Robot ผ่านสื่อออนไลน์) ประเภทนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ จากจุฬาฯ 8.Wonga (แอปทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.กรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 9.Huppy.Space (เว็บไซต์รวบรวมจุดรับพัสดุใกล้บ้าน) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ