จีนแห่เรียนมหา’ลัยไทย ปรับหลักสูตรโรดโชว์ดึงตี๋หมวย

มหา’ลัยไทยรุกตลาดแดนมังกรเดินหน้าโรดโชว์ดีลตรงดึงนักศึกษาจีน ตัดวงจรเอเยนซี่ลดค่าใช้จ่ายลง 1.5-2 แสนบาทต่อหัว ม.รังสิตปูพรม MOU มหา”ลัยทุกมณฑล เผยหลักสูตร “ภาษาไทย-บริหารธุรกิจ” มาแรง ด้าน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ปรับหลักสูตรใหม่ตอบโจทย์ตลาดเด็กจีนโดยเฉพาะ กงสุลเชียงใหม่เปิดข้อมูลเด็กจีนมาเรียนกว่า 7,000 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาล-อุดมศึกษา มช.ร่วมวงชูหลักสูตรดิจิทัล-เทคโนโลยีฯ

 

นักศึกษาจีนแห่เรียนมหา”ลัยไทย

แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดการศึกษาในไทยขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนอย่างมาก รองจากตลาดหลักอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผลจากจำนวนของประชากรจีนที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูงมาก การศึกษาต่อในต่างประเทศจึงเป็นอีกตัวเลือก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ประกอบกับมหาวิทยาลัยในไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างมาก

เดิมทีนักศึกษาจีนจะใช้บริการแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศจากบริษัทตัวกลาง หรือเอเยนซี่ ที่ให้บริการแนะแนวการศึกษา ตั้งแต่ยื่นเอกสารจนถึงได้เข้าเรียน ซึ่งมีค่าดำเนินการอยู่ที่ 25,000-30,000 หยวน หรือราว 150,000 บาท แต่จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนเห็นโอกาสพุ่งเป้ามาที่ตลาดจีนมากขึ้น ด้วยวิธีการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน นักศึกษาทุน และนักศึกษาที่สนใจมาเรียนในไทยอยู่แล้ว ซึ่งทำให้นักศึกษาลดค่าใช้จ่ายในการใช้เอเยนซี่ลง

หลักสูตรภาษาไทยมาแรง

สำหรับหลักสูตรที่นักศึกษาจีนให้ความสนใจ คือ หลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรบริหารธุรกิจ โดยให้เหตุผลว่าในอนาคตไทยและจีนจะมีความร่วมมือทางธุรกิจและความร่วมมือด้านอื่น ๆ มากขึ้น หากพูดภาษาไทยได้จะช่วยให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น

“ในบางมณฑลของจีนที่มีการเปิดสอนวิชาภาษาไทยจะมีนักเรียนเลือกเรียนกว่า 2,000 คน ถ้ารวมมณฑลอื่น ๆ มองว่าจะมีจำนวนมหาศาลที่สนใจเรียนภาษาไทย ที่สำคัญไม่ได้มีเพียงนักศึกษาเท่านั้น ยังรวมถึงครู-อาจารย์ที่ต้องการมาเรียนในไทยโดยเฉพาะในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อไปปรับวุฒิอีกด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มนักศึกษาจีนในไทยจะยังเพิ่มขึ้นอีกมาก และภาพที่เห็นชัดในปี 2562 นี้ คือแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เดินสายโรดโชว์และลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับมหาวิทยาลัยจีนในมณฑลต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อส่งนักศึกษาจีนมาเรียนที่ประเทศไทย

หากจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่คาดว่าจะมีนักศึกษาเข้ามาเรียน อันดับ 1 ปีนี้มองว่าน่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเกริก เนื่องจากปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยมีนักลงทุนจีนเข้ามาถือหุ้นแล้ว ทำให้มีการส่งนักศึกษาจีนเข้ามาโดยตรง อันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมของนักศึกษาจีน ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เอเยนซี่ส่งนักศึกษาจีนเข้ามา และอันดับ 3 มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งมีการบุกหนัก

ม.รังสิตโรดโชว์ทุกมณฑล

ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และรองผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จำนวนนักศึกษาจีนใน ม.รังสิต กว่า 400 คน โดย 50% เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน สาขาวิชาภาษาไทยและสาขาบริหารธุรกิจ (เรียนด้วยภาษาไทย) อีก 50% เป็นนักศึกษาเรียน 4 ปี หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรบริหารธุรกิจ หลักสูตรการท่องเที่ยว-การโรงแรม และหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ

นอกจากนี้อยู่ระหว่างขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนของจีนเพิ่มเติม จากเดิมที่มีความร่วมมือแล้วเช่น มหาวิทยาลัยหลางฝ่าง ในมณฑลเหอเป่ย์ หลักสูตรชีวการแพทย์,มหาวิทยาลัยกุ้ยโจว มณฑลกุ้ยโจว ร่วมมือหลักสูตรพยาบาล, มหาวิทยาลัยกวางสี มณฑลกวางสี หลักสูตรภาษาไทย และมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินยูนนาน กับวิทยาลัย Oxbridge รวมถึงมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง ซึ่งจากความร่วมมือโดยตรงระหว่างมหาวิทยาลัยทำให้เชื่อมั่นว่า ในปี 2562 จะมีนักศึกษาจีน (แรกเข้า) อีก 400-500 คน ซึ่งเตรียมความพร้อมไว้ทั้งอาคาร-สถานที่ ไปจนถึงบุคลากรอย่างอาจารย์ผู้สอน

“ภาพรวมที่เห็นตอนนี้มีนักศึกษาไทยไปเรียนจีนกว่า 20,000 คน ขณะที่มีนักศึกษาจีนมาเรียนไทย 30,000 คน และปีหน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่านักศึกษาจีนยังคงเพิ่มขึ้น เพราะทุกมหาวิทยาลัยในไทยต่างพุ่งเป้าไปที่ตลาดจีน จากอัตราการเกิดที่น้อยลงและที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัยของรัฐในไทยเพิ่มขึ้น”

มธบ.ปรับหลักสูตรรับเด็กจีน

ด้าน ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจเชิงนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำเสนอหลักสูตรใหม่ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักศึกษาจีน คือ “หลักสูตรแนวใหม่ หรือจับวิชาเป็นโมดูล” สาขาบริหารธุรกิจ โดยแต่ละหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มวิชาพื้นฐาน 2) กลุ่มด้านนวัตกรรม และ 3) กลุ่มดิจิทัล มีเป้าหมายให้นักศึกษาเป็น “นวัตกร” (inovater) หรือสร้างผู้ประกอบการแห่งอนาคต

“จะเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่เข้ามาเรียนหลักสูตรใดก็จะเรียนแค่หลักสูตรนั้น ๆ แต่หลักสูตรใหม่นักศึกษาเลือกวิชาเอกเอง จะผสมผสานทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ต้องผสมผสานทั้งเรื่องการตลาด โลจิสติกส์ และการจัดการองค์กร เป็นต้น นักศึกษากลุ่มนี้จะวัดผลการเรียนด้วยการปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาประเมินผล เมื่อจบไปสามารถทำงานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเทรนเพิ่มเติม”

มช.ชูจุดแข็งหลักสูตรพยาบาล

ขณะที่ รองศาสตราจารย์อุษณีย์ คำประกอบ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน มช.มีนักศึกษาต่างชาติรวม 1,058 คน ทั้งในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจีน688 คน หลักสูตรที่ได้รับความนิยม คือ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ในแต่ละปียังมีนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในคอร์สพิเศษระยะสั้นอีกราว 1,000 คน/ปี สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาโทที่นักศึกษาจีนสนใจมาก คือ หลักสูตรพยาบาล นอกจากนี้ยังได้เริ่มโปรโมตหลักสูตร Digital Innovation and Financial Technology ในจีนด้วย

มหา”ลัยจับมือเอเยนซี่ป้อนเด็ก 

ดร.นิศาชล ไทยทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซบอน เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกวางสี กล่าวว่า แต่ละปีจะมีนักเรียนที่พลาดจากการเข้าสอบมหาวิทยาลัยในจีนเป็นจำนวนมาก การเข้ามหาวิทยาลัยในไทยจึงเป็นทางเลือก ซึ่งในช่วงแรกนักศึกษาจะใช้บริการจากเอเยนซี่ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันการเลือกใช้เอเยนซี่น้อยลง เพราะมหาวิทยาลัยไทยเข้าไปติดต่อประสานกับทางจีนโดยตรง ซึ่งก็ทำให้ โซบอน เอ็ดดูเคชั่น ต้องปรับจากการเป็นคนกลางมาเสนอจัดซัมเมอร์แคมป์ รวมถึงจัดศึกษาดูงานสถาบันการศึกษาแทน

“ส่วนใหญ่แต่ละมหา”ลัยจะมีเอเยนซี่อยู่ที่จีนอยู่แล้ว เราเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำธุรกิจเป็นตัวกลางความร่วมมือเรียกได้ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนทุกแห่งในไทยต่างก็มีเอเยนซี่หลักของตัวเอง”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์แนะแนวการศึกษาพบว่า เอเยนซี่จีน “Taiguo.m.liuxue86.com” มีการโปรโมตมหาวิทยาลัยในไทยจำนวนมาก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เชียงใหม่, อัสสัมชัญ, สงขลานครินทร์, ธรรมศาสตร์, มหิดล, ศรีนครินทรวิโรฒ, แม่โจ้, เกษตรศาสตร์, บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นเรศวร, มหาสารคาม, ทักษิณ, ม.กรุงเทพ เป็นต้น

จีนบุกเรียนเชียงใหม่ 7,000 คน

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มคนจีนเดินทางมาเรียนหนังสือในจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากสถานกงสุลเชียงใหม่ระบุว่า ปัจจุบันเด็กจีนที่มาเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา มีประมาณ 7,000 คน เพราะด้วยศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ทำให้คนจีนนิยมเดินทางเข้ามาเรียนกันมากขึ้น ตลาดด้านการศึกษาของกลุ่มคนจีนในจังหวัดเชียงใหม่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอดีตที่ผ่านมาจะมีพ่อแม่เข้ามาลงทุนซื้อคอนโดฯหรือบ้านให้ลูกหลานที่มาเรียนใช้เป็นที่พัก แต่ปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะเช่าอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมอยู่เพื่อความสะดวกมากกว่าการซื้อที่อยู่อาศัย

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!