“มข.” ผนึกญี่ปุ่น ชู AI พลิกโฉมการศึกษาไทย

เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย Education Transformation อันถือเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษา และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น จัดบรรยายเรื่อง “AI for Education Transform in the 4th Industrial Revolution” โดยมี “ศ.คร.มาซามิ อิโซดะ” ผู้ดูแลโครงการ AI for Education และผู้เชี่ยวชาญด้าน lesson study เป็นวิทยากร

“นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล” ที่ปรึกษารักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น มีความร่วมมือทางวิชาการ และการศึกษามายาวนานกว่า 15 ปี ต่อมาจึงขยายความร่วมมือทางด้านการแพทย์, การเกษตร, มนุษยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์

“มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยก้าวหน้าระดับโลกในหลาย ๆ ด้าน และที่มีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบัน คือ AI for health care ซึ่งผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากมนุษย์เอง เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ในปี 2019-2021 ทางมหาวิทยาลัยทสึคุบะได้เสนอโครงการ AI for Educationซึ่งมี 20 ประเทศในกลุ่มเอเปกเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และความร่วมมือในการจัดบรรยายครั้งนี้ เราหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาการศึกษาไทยได้ในอนาคตได้อีกด้วย”

“รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์” รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวเสริมว่า การเรียนรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องศึกษาในสองด้าน ที่ประกอบด้วย บริบทแวดล้อมการดำเนินชีวิต และด้านวิชาการ

“ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากการเรียนรู้ในสองด้านแล้ว เขายังมีการเตรียมเด็กตั้งแต่ในระดับชั้นมัธยมให้มีความคุ้นชินกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) ในทุกสาขาวิชา โดยจะมีแผนการจัดทำ AI ควบคู่ไปกับการออกแบบระบบการเรียนรู้ e-Learning และฐานข้อมูลบริการวิชาการ ทำให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการต่อยอด ผลิตสินค้า นวัตกรรมในอนาคตต่อไป”

ขณะที่ “ศ.ดร.มาซามิ” กล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการแพทย์ และธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งกว่าร้อยละ 98.7 งานต้อนรับจะเป็นหน้าที่ของ AI แล้วทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ต้องมาดูว่ามีงานส่วนไหนที่ทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นงานที่แสดงความรู้สึก

“ส่วนด้านการศึกษา เมื่อนำ AI เข้าสู่ระบบการสอบในระดับอุดมศึกษา พบว่า AI สามารถสอบแข่งขันเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 64 ของญี่ปุ่น และผลในกระดาษคำตอบบ่งชี้ลงไปอีกว่า มีบางคำถามที่มนุษย์ตอบผิด แต่ AI ตอบถูกอย่างง่ายดาย”

“ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ จึงทำให้ญี่ปุ่นร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่ทำงานร่วมกันมา 15 ปี โดยผ่านการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาหลักสูตรจัดการเรียนการสอน AI ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ด้วยการใช้เครื่องมือหุ่นยนต์ ซึ่งมีการฝึกอบรมครู อาจารย์ในด้านวิทยาการคำนวณ เพราะศาสตร์ด้านนี้จะเป็นทิศทางต่อไปของโลกในอนาคต”

“ดังนั้น หากนำ AI เข้าสู่ระบบการศึกษาจะช่วยลดเวลาทำงานซ้ำ ๆ ทั้งการตรวจการบ้าน การให้คะแนนเรียงความ และการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ด้วยการช่วยจัดการ และจำแนกงานเอกสารต่าง ๆ รวมถึงยังช่วยอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้อุปกรณ์ช่วยหลายชนิด อาทิ สื่อเสียง (audio) วิดีโอ และมีผู้ช่วยออนไลน์ สอนแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตต่อไปข้างหน้า AI จะเป็นอาจารย์เสมือนจริงได้อีกด้วย”

อันเป็นการนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ