“ESRI” จับมือ มธ. ผลิตมืออาชีพ GIS

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้าน location intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ ๆ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เข้ามาบรรจุไว้ในวิชาเทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีขีดความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สู่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

“ธนพร ฐิติสวัสดิ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ติดอันดับ 1 ในตลาดแรงงานที่ต้องการคนทำงานด้านเทคโนโลยีสูงสุด โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน GIS ซึ่งจากการสำรวจของ Market Research Engine พบว่า ตลาด GIS ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกินกว่า 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 336 พันล้านบาท ภายในปี 2567

การขยายตัวดังกล่าวทำให้ตำแหน่งงาน GIS ในเว็บไซต์ Indeed.com เป็นที่ต้องการถึง 11,000 ตำแหน่ง ทั้งนั้น จากปัจจัยดังกล่าวบริษัทจึงร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ GIS มาบรรจุในหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาอสังหาริมทรัพย์ ในวิชาเทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นการเรียนการสอนไปที่การทำความรู้จักกับเทคโนโลยี GIS ArcGIS Pro, การวิเคราะห์ด้วย ArcGIS Pro, Site Selection การวิเคราะห์ทำเลที่เหมาะสมสำหรับด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพื่อมุ่งผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสู่อุตสาหกรรมอสังหาฯ

“ในหลักสูตรนี้จะมีการบรรยายเกี่ยวกับ GIS เป็น 6 คลาสเรียน ต่อ 1 คอร์ส จากทั้งหมด 14 คลาสเรียน ซึ่งจะมีเนื้อที่ประกอบด้วย การแนะนำระบบภูมิสารสนเทศ การใช้งานซอฟต์แวร์ ArcGIS การนำเข้าข้อมูล การสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่ การสร้างเว็บแอปพลิเคชั่นสำหรับการติดตาม แก้ไขข้อมูลแปลงที่ดิน การประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อวางแผน การจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมกับข้อมูลประชากร (suitability analysis) การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมของที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ การใช้เครื่องมือภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างแผนที่ การจัดทำระวางแผนที่ การส่งออกข้อมูลในรูปแบบตาราง และการสร้าง operations dashboard เพื่อสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของกราฟต่าง ๆ โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน GIS สู่แวดวงอสังหาฯเพิ่ม 100 คนต่อปี”

“รศ.ดร.พิภพ อุดร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาควิชาเทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนมากว่า 30 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนอยู่เสมอ และการตัดสินใจนำเทคโนโลยี GIS เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนในครั้งนี้ เพื่อปูทางสู่การเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติจริง practical learning มากยิ่งขึ้น

“เรามองเห็น 3 สิ่งสำคัญคือ innovative, practical และ connected ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากข้อมูลเรียลไทม์ในแบบจำลองที่เสมือนจริง เสมือนได้ทำงานจริง เห็นปัญหา และการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง นำมาสู่ความคิดที่เป็น innovative กล้าคิด กล้าทำ ลงมือทำจริง เกิดเป็น practical knowledge ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และสังคม ในภาพกว้าง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานจากความรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินงาน และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่นักศึกษาภาควิชานี้ที่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี แต่ทุกคนสามารถเปิดรับและเรียนรู้ได้ หากการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูล บูรณาการ และสร้างนวัตกรรม เพิ่มพูนศักยภาพธุรกิจ และเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกันอีกด้วย

อันเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากร ต่อยอดสู่ความยั่งยืนของสังคมต่อไป