ชูหลักสูตร เทคโนโลยีดิจิทัล “ครู” เป็นต้นแบบสร้างนวัตกร

มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 12 หรือ EDUCA 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เปิดเวทีให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ฟัง คิด และเห็นต้นแบบหลักสูตรต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นำไปปรับใช้ในแบบฉบับของแต่ละโรงเรียน สำหรับปีนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล นับเป็นเรื่องที่ครูจากทั่วประเทศให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี (disruptive) มีการสร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันประเทศไทย 4.0 ฉะนั้น สถาบันการศึกษาจึงต้องพัฒนาเด็กให้คิดเชิง “นวัตกรรม” และต่อยอดการเป็น “นวัตกร” ของพวกเขาในอนาคตบนเวที “EDUCA 2019” นำหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการคิดเชิงนวัตกรรม ของโรงเรียนราชินีบน

มาถ่ายทอด โดย “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ในฐานะผู้พัฒนาหลักสูตรดังกล่าวระบุว่า หลักการของหลักสูตรดังกล่าว คือ การคิดพัฒนาเชิงนวัตกรรมที่ทำให้เดินไปกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ฉะนั้น กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องใช้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC มาเป็นตัว “เดินเรื่อง” มีการทำวิจัยซ้ำเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนแม่นยำที่สุด การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนจากเดิมที่มี 4 องค์ประกอบ คือ จุดประสงค์ สาระ กระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผล

แต่สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเพิ่มสื่ออุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้หลักสูตรมีความเด่นเฉพาะขึ้นมา รวมถึงนำการออกแบบเชิงวิศวกรรม (engineering design process) มาใช้เป็นแกนกลาง ควบคู่กับการใช้คำถามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตของหลักสูตรมีเนื้อหาสาระที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกเหนือจากเนื้อหาสาระที่ต้องชัดเจนแล้ว “จุดมุ่งหมาย” ของหลักสูตรก็สำคัญด้วยเช่นกัน คือ มุ่งพัฒนาตามตัวชี้วัด ความรู้ ทักษะและเจตคติของนักเรียน ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่เรียกว่า “ว 4.2” (วิทยาการคำนวณ) และการมองไปจนถึงสมรรถนะเพื่อให้เกิดความคิดเชิงนวัตกรรม อีกทั้งต้องมี “บริบทเฉพาะ” คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียน ให้เกิดกระบวนการวิเคราะห์ มองเห็นถึงปัญหา และเกิดความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสิ่งประดิษฐ์ และกระบวนการใหม่ให้เกิดขึ้นได้

“เมื่อพูดถึง 4.0 ต้องพูดถึงนวัตกรรม คือ โลกที่คิดและแก้ปัญหาด้วยสิ่งประดิษฐ์ใหม่ โปรเจ็กต์ของเราจึงเน้นที่การพัฒนาหลักสูตรที่มีแนวคิดพื้นฐานคือวิทยาการคำนวณ ในช่วงเริ่มต้นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอบรมครูตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบหลักสูตร วิพากษ์และปรับหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้ และในทางปฏิบัติ ความใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ที่เราเรียกว่านวัตกรรมในวันนี้ อาจจะเป็นนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว แต่เด็กเล็กอาจจะยังไม่เคยเห็น เราสอนเรื่องนวัตกรรมกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล”

“ดร.พิรุณ” เสริมข้อมูลในส่วนของการชี้วัดและประเมินผลว่า เมื่อนำหลักสูตรมาใช้แล้ว ในช่วงเริ่มต้นจะใช้เชิงปริมาณมาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ หากพิจารณาในเชิงคุณภาพ ต้องใช้ “การตั้งคำถาม” จากครู เข้าไปพูดคุยกับเด็กว่า เขารู้สึกต่อสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นอย่างไร

ฉะนั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ การวัดผลจากสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการพูดคุย ตรวจผลงานที่เกิดขึ้นว่านำไปใช้ได้จริงหรือไม่ อาจจะไม่ใช่ระดับนวัตกรรม เอาแค่สิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นแนวคิดใหม่ที่จับต้องได้ เป็นชิ้นเป็นอัน วิธีการหรือกระบวนการทำงานแบบใหม่ หรือเป็นขั้นตอนของการ “จัดระบบใหม่” เข้าไป ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมได้เช่นกัน

ขั้นตอนสำคัญที่สุดในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ คือ “การระบุปัญหา”

ถ้าระบุปัญหาผิดก็เท่ากับ “ผิดตั้งแต่เริ่มต้น”

“ยกตัวอย่างโมเดลของปัญหา หรือสภาพที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย เช่น การไปโรงเรียนไม่ทัน รถติดคือปัญหาหรือไม่ ฝนตก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า “อุปสรรค” ถ้านิยามของปัญหาแม่นจะสามารถแก้ปัญหาจากสาเหตุได้ ดูองค์ประกอบอื่น ๆ ให้ชัดเจน จากนั้นค้นหาแนวทางแก้ไข เมื่อต้องเข้าสู่รูปแบบการออกแบบเชิงวิศวกรรมนั้น ต้องทำ “ต้นร่าง” (prototype) ลงในกระดาษก่อน เมื่อใดก็ตามที่เราจะให้เด็กออกแบบ หรือลงมือทำอะไรก็ตาม โดยปกติจะทำกันทันที ยกอุปกรณ์ให้เด็กเมื่อไหร่ ก็มักจะหยิบอุปกรณ์ขึ้นมาเล่นหรือประดิษฐ์ โดยที่ยังไม่ได้ออกแบบ อาจทำในรูปของผังมโนทัศน์ให้ได้ก่อน เพื่อให้เด็กได้ค้นหาแนวทางของตัวเอง เกิดการสืบค้นความรู้ คำถามเชิงปรัชญาที่จะถามได้ คือ ความรู้ของผู้เรียนเพียงพอหรือยัง”

“ดร.พิรุณ” ยังบอกอีกว่า การคิดนวัตกรรมถือเป็นการคิดที่ต้องบูรณาการศาสตร์ และศิลป์เข้าไปในเนื้องาน ซึ่งนักเรียนจะต้องคิดให้รอบด้าน ลงมือทำอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งค้นพบ “จุดอ่อน”

“การค้นพบจุดอ่อนทำได้ด้วยการทดสอบ ฉะนั้นเมื่อสร้าง prototype ขึ้นมา จะต้องทดสอบว่าชิ้นงานนั้นมีคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ นอกจากนี้ แนวความคิดเชิงนวัตกรรมยังต้องพิจารณาจากความสามารถ การคิดขั้นสูง เพราะกว่าจะพัฒนาออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์นั้น ยังประกอบไปด้วยความคิดขั้นต่ำหลากหลายแล้วหลอมรวมประกอบกันเพื่อนำไปแก้ปัญหา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งมีกระบวนการคิดย่อย 4 ขั้นตอน คือ 1) ระบุปัญหา 2) ออกแบบนวัตกรรม 3) วางแผนและพัฒนานวัตกรรม และ 4) สะท้อนผลการพัฒนานวัตกรรม ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องคิดให้ได้”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมของโรงเรียนทั่วประเทศที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่อาจจะมี “ข้อจำกัด” ในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น “ดร.พิรุณ” กล่าวว่า ถ้าจะเริ่มด้วยเทคโนโลยีจะต้องค้นหาความถนัด หรือความสนใจจากเด็กนักเรียนให้ได้ ทั้งนี้ โรงเรียนที่สนใจจะพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะต้องมี “ทีมครู” ที่เชี่ยวชาญวิทยาการคำนวณ และคอมพิวเตอร์ที่เข้มแข็ง และอาจจะต้องถามตัวเองว่า เราเหนือกว่าเทคโนโลยีอย่างไร ที่เห็นว่ามันทันสมัย แต่คนอัจฉริยะกว่าตรงที่สามารถคอนโทรลได้ หน้าที่ของครู คือ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็น “ตัวแบบ” ให้นักเรียนด้วย

“ดร.พิรุณ” กล่าวในช่วงท้ายถึงหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการคิดเชิงนวัตกรรมว่า สิ่งประดิษฐ์ ไม่ใช่ productivity ที่สำคัญที่สุดของหลักสูตร คือ กระบวนการคิดสิ่งที่อยู่ในหัวของเด็กทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้น วิชานี้โดยสรุป คือ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการคิดแก้ปัญหาด้วยสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการใหม่ที่เป็นระบบ ระเบียบ ไม่ทิ้งปัญหา และหาแนวทางแก้ไขได้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้