“วลัยลักษณ์” ปั้นหลักสูตรใหม่ สร้างเชฟมือโปร-เทรนเนอร์กีฬา

“ม.วลัยลักษณ์” ปักธงเป็นศูนย์สอบภาษาจีน แห่งแรกในภาคใต้ ปรับคุณสมบัติ น.ร.ต่อโท-เอกต้องได้ภาษาจีนระดับ 5 เล็งเปิด 2 หลักสูตร ดึงเด็กเรียน ศิลปะการปรุงอาหาร-วิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย ในปี”63 รองรับความต้องการของ น.ศ.และผู้สนใจทั่วไป

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการลงนามความร่วมมือในสัญญาการเป็นศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนแบบอินเทอร์เน็ต ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ Bejing National Center for Open & Distance Education ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น ม.วลัยลักษณ์จึงต้อง “ปรับเงื่อนไข” ในการรับนักศึกษาที่ต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรภาษาจีนของตัวเองทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จากเดิมที่ไม่มีการกำหนด มาเป็นนักศึกษาจะต้องมีความรู้ด้านภาษาจีนในระดับ 5 (สามารถใช้ภาษาจีนในการอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ดูรายการโทรทัศน์ของจีนได้อย่างเข้าใจ สามารถกล่าวสุนทรพจน์ภาษาจีนได้ และรู้คำศัพท์ของจีนได้ประมาณ 2,500 คำ)

ถือเป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานและสร้างบัณฑิตคุณภาพ และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการรู้ว่าระดับความสามารถด้านภาษาจีนของตัวเองเป็นอย่างไร ที่สำคัญยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาต่อในประเทศจีนได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

ศูนย์สอบดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สำนักวิชาศิลปศาสตร์ จะมีการสอบวัดความรู้ในระดับ HSK 1-HSK 6 ในเบื้องต้นสามารถรองรับการสอบได้อย่างน้อย 1,000 คน/ปี โดยในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมคือ ห้องสอบพร้อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สนับสนุนการสอบ ประมาณ 100 เครื่อง และเพื่อให้ศูนย์สอบมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษาจีนนั้น จะมีการส่งบุคลากรของ ม.วลัยลักษณ์ไปฝึกด้านภาษาและการจัดสอบโดยเฉพาะประมาณ3 คน ถือเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องการบัณฑิตให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญภาษาจีนในระดับมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าในอนาคตภาษาจีนจะมีความจำเป็นมากขึ้นเหมือนกับที่นักศึกษาจะต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเช่นกัน

“เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ศูนย์สอบนี้เป็นเหมือนการสอบวัดระดับความสามารถ TOFEL สำหรับภาษาอังกฤษ ก่อนหน้านี้เราอาจจะแค่เรียนภาษาจีนโดยที่ไม่รู้ว่าอยู่ในระดับใด และสามารถต่อยอดจากความรู้ภาษาจีนได้อย่างไร ประกอบกับขณะนี้ในสถาบันการศึกษาของไทยเป็นที่ต้องการของนักศึกษาจีนอย่างมาก นักเรียนไทยในหลักสูตรจีนก็สามารถสื่อสารกับนักศึกษาจีนเสมือนกับเป็นการฝึกสิ่งที่ได้เรียนมาอีกด้วย”

ขณะที่ Zhao Min กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประเทศจีน ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนกว่า 400 สถาบัน มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันพัฒนาทางด้านการศึกษาร่วมกัน ที่สำคัญในแต่ละปีประเทศจีนจะมีจำนวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกว่า 8 ล้านคนต่อปี จะเป็นโอกาสที่ดีที่คณะ จะได้แนะนำนักศึกษาเหล่านั้นให้มาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่อไป

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า การสอบวัดระดับความรู้ด้านภาษาจีนในปัจจุบัน ประกอบด้วย การสอบ HSK ที่แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การสอบข้อเขียน ที่แบ่งออกเป็น 6 ระดับคือ ระดับ 1 สำหรับผู้เข้าใจคำศัพท์และประโยคง่าย ๆ รู้คำศัพท์ประมาณ 150 คำ ระดับ 2 สำหรับผู้ใช้ประโยคภาษาจีนง่าย ๆ สามารถสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน รู้คำศัพท์ประมาณ 300 คำ ระดับ 3 สำหรับผู้ที่ใช้สื่อสารภาษาจีนในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน รู้คำศัพท์ประมาณ 600 คำ ระดับ 4 สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาจีนในระดับที่สามารถสื่อสารกับเจ้าของภาษาได้ รู้คำศัพท์ประมาณ 1,200 คำ ระดับ 5 สำหรับผู้ใช้ภาษาจีนในการอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ดูรายการโทรทัศน์ของประเทศจีนเข้าใจ สามารถกล่าวสุนทรพจน์ภาษาจีนได้ รู้คำศัพท์ 2,500 คำ และระดับ 6 สำหรับผู้ที่อ่านและฟังข่าวสารภาษาจีนในระดับที่ยากเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ทั้งการพูดและการเขียน รู้คำศัพท์ประมาณ 5,000 คำ

นอกจากนี้ยังมีการสอบพูดที่แบ่งเป็นระดับต้นสำหรับผู้ที่สอบข้อเขียนระดับ 1 และระดับ 2 แล้ว ระดับกลาง สำหรับผู้ที่สอบข้อเขียนระดับ 3 และระดับ 4 และระดับสูง สำหรับผู้ที่สอบข้อเขียนระดับ 5 และระดับ 6 เรียบร้อยแล้ว

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเสริมถึงหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2563 นี้ ประกอบด้วย

1) ศิลปะการปรุงอาหารแบบมืออาชีพ โดยพิจารณาจากความต้องการของนักเรียนที่ปัจจุบันมีการแข่งขันหรือประกวดฝีมือการทำอาหารที่มากขึ้น อย่างเช่น รายการมาสเตอร์เชฟ ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่จำนวนผู้สมัครเข้ามาแข่งขันในรายการได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก นอกจากนี้ ม.วลัยลักษณ์ยังได้ลงทุนสร้างโรงครัวขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้มีการฝึกทำอาหาร

2) หลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งจะอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ เหตุผลที่เปิดหลักสูตรนี้คือ เทรนด์รักษาสุขภาพกำลังได้รับความนิยม ซึ่งทีมจัดตั้งหลักสูตรมองว่ายังมีสิ่่ง “เกี่ยวเนื่อง” การกีฬาที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้

ทั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์จะเปิดรับนักศึกษาใหม่ทั้ง 2 หลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี 2563 นี้ วางเป้าหมายไว้ที่หลักสูตรละ 40 คน แต่หากเปิดรับสมัครแล้วพบว่ามีความต้องการเป็นจำนวนมาก สามารถปรับยอดรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่รองรับนักศึกษาได้อีกจำนวนมาก

“ทั้ง 2 หลักสูตรเรามองว่าทำให้นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่เรียนรู้มาได้ เช่น การเป็นเจ้าของธุรกิจฟิตเนส รวมไปจนถึงการเป็นเทรนเนอร์การออกกำลังกายที่นำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้มากขึ้น เพราะเรามองว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังยังมีอีกมาก ที่สำคัญสามารถต่อยอดพัฒนาออกมาเป็นหลักสูตรให้สอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไปด้วย อีกทั้งตรงตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการ สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพให้ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองต่อไปในอนาคต”

คลิกอ่านเพิ่มเติม… “มศว.” รุกหลักสูตรระยะสั้น อัพสกิลวัยทำงาน-ติวเด็กปั้น Portfolio