“อินเดีย” รุกธุรกิจการศึกษา บุกไทยดึงเด็กเรียนนานาชาติ

"ซานจีฟ โบเลีย" ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ AFAIRS Exhibitions & Media Pvt. Ltd., จากประเทศอินเดีย

การศึกษาต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต และคนไทยไปเรียนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในปัจจุบันเทรนด์การศึกษาต่อเริ่มเปลี่ยนทิศ จากที่ผู้ปกครองเคยมองสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และออสเตรเลียเป็นจุดหมายในการส่งบุตรหลานไปเรียน ก็เริ่มหันมามองประเทศในทวีปเอเชียที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการมากขึ้น โดย 1 ในประเทศที่ได้รับความนิยม คือ อินเดีย จึงทำให้สถาบันการศึกษาในอินเดียทยอยมาจัดงานแฟร์ประชาสัมพันธ์การศึกษาในไทย

“ซานจีฟ โบเลีย” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ AFAIRS Exhibitions & Media Pvt. Ltd., จากประเทศอินเดีย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจัดงานมหกรรมศึกษาต่ออินเดียที่กำลังจะจัดงาน The Great India Education Fair ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า เริ่มทำธุรกิจประชาสัมพันธ์การศึกษาอินเดียมาตั้งแต่ปี 1994 ตอนนั้นบริษัทตนเองยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ทำงานทางด้านนี้ เพราะยังไม่มีคนเห็นโอกาสในตลาดการศึกษา แต่ตอนนี้เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ปี 2000 เราเริ่มเห็นช่องทางขยายการประชาสัมพันธ์การศึกษาไปต่างประเทศ เพราะจำนวนลูกค้าที่เป็นสถาบันการศึกษาเริ่มมีมากขึ้น ครอบคลุม 20 เมืองในประเทศอินเดีย เพราะพวกเขาเชื่อในฝีมือของเรา โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดของเราในยุคแรก ทั้งยังมีเด็กไทยจำนวนมากไปเรียนที่อินเดียในระดับประถมศึกษา ถึงตอนนี้เราจัดมหกรรมการศึกษาต่ออินเดียครอบคลุม 15 ประเทศทั่วโลก โดยทำในหลายระดับตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาเอก แต่คนไทยไปเรียนในระดับประถมศึกษามากที่สุด ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนไทยเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอินเดีย รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ และเนปาล”

“ตอนนี้รัฐบาลอินเดียกำลังผลักดันอุตสาหกรรมการศึกษาในการดึงดูดนักเรียนต่างชาติมาเรียนที่อินเดียมากขึ้น โดยมุ่งมั่นที่จะใช้จ่ายประมาณ 1.5 พันล้านรูปีอินเดีย (22.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อส่งเสริมแบรนด์การศึกษาอินเดีย และปรับกระบวนการขอวีซ่าให้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะนำนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมโครงการ 200,000 คน ภายในปี 2030 ทำให้บริษัทของเรามองเห็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์การศึกษาอินเดียในต่างประเทศมากขึ้น ที่สำคัญปีนี้เรายังมุ่งเน้นการขยายการศึกษาไปยังทวีปแอฟริกา เพราะแนวโน้มการไปเรียนต่างประเทศของชาวแอฟริกันมีมากขึ้นเช่นกัน”

เมื่อพูดถึงเหตุผลที่คนไทยส่งบุตรหลานไปเรียนที่อินเดีย “ซานจีฟ โบเลีย” บอกว่า อินเดียนับเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งยังใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในห้องเรียนและการติดต่อราชการ ที่สำคัญการไปเรียนที่อินเดียยังเปิดโอกาสให้คนไทยเรียนรู้วัฒนธรรมแปลกใหม่เพื่อมีความรู้ติดตัว และเป็นกำไรของชีวิต

“สำหรับค่าเล่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ประเทศอินเดียมีราคาเพียง 1 ใน 3 ของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย และการเรียนการสอนในโรงเรียนนานาชาติที่อินเดียใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้เรียนได้ทักษะพูดและเขียน เพราะมีมาตรฐานตามหลักสูตรระดับโลก IB หรือ International Baccalaureate Programme ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า 156 ประเทศ อันเป็นสิ่งยืนยันว่าโรงเรียนนั้น ๆ มีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก”

“นอกจากนั้น โรงเรียนนานาชาติในอินเดียยังเสริมสร้างทักษะไอทีให้กับเด็กตั้งแต่เกรด 2 โดยเน้นเรื่องคณิตศาสตร์ อีกข้อดีของการไปศึกษาที่อินเดียคือใช้เวลาบินจากประเทศไทยเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้ไม่เหนื่อยกับการเดินทาง และเมื่อมีเด็กไทยไปเรียนที่อินเดียมากขึ้น หลายโรงเรียนก็เริ่มปรับตัว มีการทำอาหารไทย หรือแม้กระทั่งร้านอาหารไทยในอินเดียก็มีมากขึ้น ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็มีมาตรฐาน มีกล้องวงจรปิดเพื่อสอดส่องดูแลนักเรียนอย่างดี”

“ตอนแรก ๆ ผู้ปกครองมักเลือกส่งเด็กไทยไป 2 เมือง คือ มัสซูรี และเดห์ราดุน เพราะเป็นเมืองตากอากาศที่ผู้ปกครองของเด็ก ๆ คุ้นเคย จึงเชื่อมั่นในพื้นที่นี้ จึงไม่อยากส่งไปพื้นที่ที่ตนเองไม่มีความรู้มากนัก แต่เมื่อเราเริ่มประชาสัมพันธ์ถึงโรงเรียนที่ดีที่สุดที่มีอยู่ทั่วประเทศอินเดียผ่านงานมหกรรมการศึกษา และเพจ facebook The Great India Education Fair Thailand บวกกับโรงเรียนนานาชาติในอินเดียมีข้อเสนอที่ดี ทำให้ผู้ปกครองเริ่มกระจายส่งเด็กไทยไปเมืองอื่น ๆ มากขึ้นในปัจจุบัน”

“ซานจีฟ โบเลีย” กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดมหกรรม The Great India Education ที่จะเกิดขึ้นบริเวณสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 15-16 ก.พ. 2020 จะมีสถาบันการศึกษาจากอินเดียมาร่วมงานมากกว่าทุกปี

“ปีนี้มีโรงเรียนนานาชาติ ทั้งโรงเรียนประจำและไม่ประจำกว่า 40 โรงเรียน เช่น Harvest International School จากเมืองลูธีอานา รัฐปัญจาบ และ Ebenezer International School จากเมืองบังคาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ และมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรนานาชาติกว่า 15 แห่ง เช่น Kalinga Institute of Industrial Technology จากเมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา และ Vishwakarma Institute & University จากเมืองปุเณ รัฐมหาราษฏระ เป็นต้น ที่สำคัญการจัดมหกรรมการศึกษาครั้งนี้เราได้รับการส่งเสริมจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยด้วย และเราเชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นจำนวนมาก”

จึงเป็นที่น่าจับตาว่าอนาคตอันใกล้ “อินเดีย” อาจกลายเป็นหนี่งในมหาอำนาจทางการศึกษาก็เป็นไปได้