สุวิทย์ เมษินทรีย์ “ไทยเผชิญสงครามแย่งคน”

"ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นกระทรวงน้องใหม่ที่ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สำหรับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่วันนี้กลายเป็น “ด่านหน้า” สำคัญในการพัฒนาคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ผลิตบัณฑิตให้ก้าวล้ำเท่าทันกับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (disruption) ทั้งยังทรงพลังและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถึงภารกิจด้านการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาของมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกเทกโอเวอร์

“อว.” เป็นกระทรวงใหม่ที่แยกออกมาทำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาทั้งหมดที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐและมหาวิทยาลัยภาคเอกชน อีกทั้งยังรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยเพื่อให้มีการส่งเสริมไปในทิศทางเดียวกัน “ดร.สุวิทย์” ระบุว่า อว.มีภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยและสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ก่อน แต่วันนี้มหาวิทยาลัยยังทำได้ไม่เต็มที่ และไม่เพียงพอแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีมากขึ้นกว่าในอดีตแล้วก็ตาม อีกทั้งสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจการศึกษาที่สูงมากอย่างในปัจจุบัน

“ดร.สุวิทย์” ฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ใน 2 ประเด็น ว่า1) ปัญหาเชิงคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาไปให้น้ำหนักในเชิงปริมาณ อีกทั้งยังมีฝ่ายการเมืองที่เรียกร้องให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ และ 2)มหาวิทยาลัยไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนักศึกษามีแหล่งในการหาความรู้ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล (Google) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) หรือแม้กระทั่งหัวเว่ย (HUAWEI) ฯลฯ ตัวทดแทนการหาความรู้เหล่านี้ นอกจากจะเข้ามาช่วยและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลแล้ว ยังเป็น“คู่แข่ง” ในเวลาเดียวกันด้วย ในขณะเดียวกัน มีบางประเด็นที่ยังไม่มีการพูดถึง คือ “สงครามแย่งชิงคนเก่ง” หรือที่เรียกว่า talent war ในแรงงานฝีมือ (skilled labour) และในระดับความสามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ (knowledge worker) ดร.สุวิทย์ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนอีกว่า อย่างกรณีการให้ทุนไปศึกษาต่างประเทศโดยรัฐบาลมีคนยื่นขอทุนน้อยมาก แต่ในมุมกลับกันหากมหาวิทยาลัยดังเปิดให้ทุนเอง กลับได้รับความสนใจมากกว่า อีกทั้งเมื่อเรียนจบยังให้สามารถอยู่ทำงานได้อีกอย่างน้อย 3 ปี เหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าประเทศไทยกำลังถูกแย่งบุคลากรที่มีความเก่งไปเรื่อย ๆ

“เราไม่เคยมองเรื่อง talent war ทั้งที่ตัวนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพ คนเก่ง ๆ ก็ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยในไทย คนเก่งคนมีโอกาสในสัดส่วนแรกที่ 5% ต่างมุ่งไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของโลกมากกว่า หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัวได้ คนไทยเก่ง ๆ ก็ไม่อยู่ ไหลออกไปต่างประเทศกันหมด รวมถึงคนเก่งในต่างประเทศก็ไม่ได้อยากเข้ามาเรียนในไทยมันคือวงจรอุบาทว์ อีกทั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์มหาวิทยาลัยในไทยมีคนมาเรียนน้อยลงสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงหรือไม่ก็นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ”

“ดร.สุวิทย์” อธิบายถึงปรากฏการณ์เข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยในไทยว่า จำนวนที่นั่งในปัจจุบันมีมากกว่าจำนวนนักเรียน (over supply) ส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาคือความ “เคยชิน” โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของภาครัฐที่ต่างมีความเชื่อว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยจะถูกปิดตัวลง “กลายเป็นว่าไม่มีใครรู้ร้อนรู้หนาว เพราะคิดว่าเดี๋ยวภาครัฐก็จะเข้ามาโอบอุ้ม ภายใต้สถานการณ์เดียวกันในต่างประเทศเกิดการปิดตัวลงมากมายในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งผมมองว่าหากมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ ไม่มีคุณภาพก็สมควรที่จะถูกปิดตัวลงได้”

ทั้งนี้ ปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่ที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น ยังรวมถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อให้สามารถบริหารได้อย่างมีอิสระ ตรงนี้ “ดร.สุวิทย์” ฉายภาพคำว่า อิสระของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น แม้จะมีความเป็นอิสระ แต่ก็ต้องมีความอิสระพร้อมไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย หรืออาจจะเรียกได้ว่า ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีเรื่องของธรรมาภิบาลมาช่วยกำกับดูแลด้วย “สิ่งที่ผมเห็นคือ ปรากฏการณ์ “เกาหลัง” ที่เกิดกับกลุ่มผู้บริหาร ผลัดกันเป็นอธิการบดี ผลัดกันเป็นฝ่ายบริหาร วนเวียนเยอะมาก ตัวนายกสภาก็ไม่ทำอะไร ทำให้ทิศทางของมหาวิทยาลัยไม่ได้เดินหน้าไปในแบบที่ควรจะเป็น กลายเป็นเรื่องพันกันอยู่ 3 เรื่อง คือ คุณภาพ ธรรมาภิบาลและปัญหาคอร์รัปชั่น”

นอกจากปัญหาภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาผสมโรง อย่างอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลงตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เมื่อจำนวนนักศึกษาน้อยลงงบประมาณที่จะถูกเทให้แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะถูกลดทอนไปด้วย เนื่องจากงบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐจะจ่ายตามจำนวน “ปกติรับนักศึกษาได้ 7-8 พันคนแต่อาจลดลงเหลือ 7,000 คน เหมือนรายได้น้อยลง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงบุคลากรที่มีอยู่ได้เหมือนเดิม เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” ดร.สุวิทย์ระบุ

สำหรับกรณีปัญหาของมหาวิทยาลัยภาคเอกชนก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐเช่นกัน แต่ ดร.สุวิทย์มองถึงเรื่องนี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ค่อนข้างเป็นห่วงในประเด็นนี้ แต่ได้อธิบายสภาพของตลาดการศึกษาให้ได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ทุกมหาวิทยาลัยมองไปข้างหน้า อย่าจมกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ซื้อขายมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความอ่อนแอของระบบการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการจำนวนมากจากนักศึกษาจีน เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีไม่เพียงพอ และที่เกิดปัญหาขึ้นมานั้นมันเกิดจากการใช้ “โบรกเกอร์” เข้าไปดึงเด็กมากกว่า

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยของนักลงทุนจีน ถามว่า อว.จะดำเนินการอย่างไรนั้น “ดร.สุวิทย์” บอกว่า เป็นเรื่องกลไกของตลาดและการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ควรเข้ามาดูเรื่องการแข่งขัน ส่วนหนึ่งเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วก็ยังอยู่ทำงานในไทย อีกทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ ทลายความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทยเสียก่อน