KU หนุนพัฒนาพันธุ์ปลา จับมือ “สกสว.” ยกระดับสินค้าเกษตร

สกสว.-ม.เกษตรฯ หนุนวิจัยยกระดับการเลี้ยงปลานิลเพิ่มมูลค่าหมื่นล้าน ด้วยนวัตกรรม IPRS การเลี้ยงปลานิลในระบบปิด ยกระดับการเลี้ยงปลาของประเทศ ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 250,000 ตัน/ปี พร้อมวางเป้าสานต่อไปยังสินค้าเกษตรอื่น ๆ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. มีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้มีการวิจัยเพื่่อพัฒนาสินค้าและการเกษตรของประเทศในทุกมิติ พร้อมทั้งพัฒนาภาคเกษตรในปัจจุบันให้เกษตรกรที่มีองค์ความรู้และนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ตามหลักการเกษตรอัจฉริยะ (smart farmer) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า BCG model (biocircular-green economy) ด้วยโครงการ “นวัตกรรมการพัฒนาเกษตรกรสู่เกษตรสมัยใหม่” ที่เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทมานิตย์ เจเนติกส์ ในโครงการการประยุกต์ใช้นวัตกรรม In-Pond Raceway System (IPRS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลในไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการในตำบลหนองปลาไหลอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ กล่าวว่า ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลผลิตต่อปีเฉลี่ย 200,000-250,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางการผลิตกว่า 10,000 ล้านบาทซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำจืดทั้งหมด แต่การเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลประสบกับภาวะขาดทุนจากการตายเฉียบพลัน อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับการแปรปรวนของสภาพแวดล้อมทางอากาศ รวมถึงการเกิดโรคระบาด และการให้อาหารแบบไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาอาหารปรับสูงขึ้น กระทั่งกลายเป็นของเสียที่มักถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะสร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่

“ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว สกสว.ในฐานะหน่วยงานด้านการวิจัย จึงร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการแก่คณะทีมวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย”

ขณะที่ “ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศรีษะภูมิ” อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกสว.กล่าวว่า ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 200,000-250,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าทางการผลิตกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำจืดทั้งหมด

แต่การเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลประสบกับภาวะขาดทุนจากการตายเฉียบพลัน อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับการแปรปรวนของสภาพแวดล้อมทางอากาศ รวมถึงต้นทุนภาวะขาดทุนจากการเกิดโรคระบาด และการให้อาหารแบบไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาอาหารปรับสูงขึ้น กระทั่งกลายเป็นของเสียที่มักถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะสร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

โครงการวิจัยดังกล่าวต้องการศึกษาประสิทธิภาพการเลี้ยงปลานิลในระบบ IPRS โดยพิจารณาจาก 1) ค่าอัตราการเจริญเติบโต 2) อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน 3) อัตราการแลกเนื้อ 4) ค่าประสิทธิภาพในการใช้อาหาร 5) อัตรารอดของปลาเปรียบเทียบกับปลานิลที่เลี้ยงในระบบบ่อดินแบบดั้งเดิม

และ 6) การวิเคราะห์หาต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตปลา/พื้นที่ ต้นทุนทั้งหมด ค่าเสื่อมราคา รายได้ทั้งหมด กำไรสุทธิในการเลี้ยงปลาในระบบ IPRS เปรียบเทียบกับการเลี้ยงในระบบบ่อดินแบบดั้งเดิม ตลอดจนการศึกษาคุณภาพเนื้อสัมผัสของเนื้อปลาและการปนเปื้อนกลิ่นโคลนของผลผลิตปลานิลในระบบ IPRS เปรียบเทียบกับการเลี้ยงในระบบบ่อดินแบบดั้งเดิม

“โดยข้อมูลทางวิชาการ รูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการระบบสำหรับการเพาะเลี้ยงปลานิล รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการเพาะเลี้ยงปลานิลในเกษตรกรทุกระดับ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ นอกจากการเลี้ยงปลานิลที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาในประเทศไทยสู่ตลาดโลก”

ด้าน นายอมร เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บ.มานิตย์ เจเนติกส์ กล่าวว่า ระบบการเลี้ยงปลานิลในรูปแบบ IPRS ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงระบบปิด ใช้การหมุนเวียนน้ำภายในระบบตลอดการเลี้ยง น้ำจะต้องมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาโดยการใช้แรงดันลมจากอุปกรณ์ให้อากาศ (blower) อุปกรณ์ให้อากาศจะถูกติดตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมต่อการทำให้น้ำภายในบ่อมีการเคลื่อนที่ ทั้งในส่วนที่เป็นบ่อดิน และส่วนที่เป็นบ่อซีเมนต์ (raceway cell)เพื่อศึกษาความแตกต่างของการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ โดยเฉพาะกลิ่นโคลนในเนื้อปลา และรูปร่างขนาดของปลานิล

ที่สำคัญการพัฒนาระบบการเลี้ยงปลานิลในรูปแบบ IPRS นอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนแล้วนั้น


การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจการเลี้ยงปลานิลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยิ่งส่งผลให้ระบบอุตสาหกรรมของไทยมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น