“จาตุรนต์” ชี้ 3 ข้อเรียกร้องกลุ่มนักเรียนเลว ควรแก้ไขจริงจัง

“จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ 3 ข้อเรียกร้องกลุ่มนักเรียนเลว ไม่ใช่ข้อเสนอสุดโต่ง ควรแก้ไขจริงจัง 

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang

วันที่ 7 กันยายน 2563 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า แถลงการณ์ 3 ข้อของ “นักเรียนเลว” สะท้อนปัญหาทั้งในโรงเรียน ระบบการศึกษาและปัญหาของประเทศ ที่รวมศูนย์อยู่ที่การครอบงำระบบเผด็จการอำนาจนิยม และความคิดจารีตนิยมอนุรักษนิยมในทุกระดับของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงโรงเรียน

ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ไม่ใช่ข้อเสนอที่สุดโต่งสุดขั้ว แต่สอดคล้องกับปัญหาที่เป็นจริงและควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ข้อเสนอข้อที่ 1 และ 2 เกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงเรียนและสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น สามารถทำได้ทันทีและจะมีผลค่อนข้างมากในทันที แต่ถ้าจะให้มีผลมากๆ จริงๆ ต้องมีการทำความเข้าใจกับครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ต้องส่งเสริมให้มีการรับฟังความเห็นของกันและกันทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน

ส่วนข้อเสนอที่ 3 เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษานั้นจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลา แต่ไม่ใช่รอไปเรื่อยๆ ต้องเริ่มทำทันที ด้วยวิสัยทัศน์และทิศทางที่ถูกต้อง

ก่อนการรัฐประหารครั้งล่าสุดมีการยกเรื่องปฏิรูปขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดการยึดอำนาจ ต่อมาก็มีการสั่งการหลายครั้งที่อวดอ้างว่าเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่จนทุกวันนี้การปฏิรูปการศึกษาก็ไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายระบบการศึกษาของไทยยิ่งล้าหลังกว่าเดิมด้วยระบบเผด็จการอำนาจนิยมและความคิดอนุรักษ์นิยมดังกล่าวแล้ว

ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อของ “นักเรียนเลว” ยังบอกสังคมไทยด้วยว่าจะแก้ปัญหาทั้งสามเรื่องได้ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ การสร้างคนพัฒนาคนในยุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปมากและระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

การเรียนรู้ในโลกอินเตอร์เน็ต การส่งเสริมให้คนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น การมีเสรีภาพที่จะคิดทำอะไรอย่างสร้างสรรค์เต็มศักยภาพ ความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้กลายเป็นค่านิยมของเด็กและเยาวชนไทยจากการศึกษาด้วยตนเองในโลกที่เปิดกว้างอย่างไม่จำกัด สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเห็นปัญหาความล้าหลังของระบบการศึกษาของไทย รวมทั้งของระบบการเมืองการปกครองด้วย

จะแก้ปัญหาระบบการศึกษา จะเข้าใจว่าทำไมนักเรียนจำนวนมากจึงไม่ยอมทนต่อสภาพที่เป็นอยู่ ต้องเข้าใจสภาพการณ์ใหม่ของโลกและสังคมไทยในปัจจุบันไปพร้อมกันด้วย