แกะรอย ‘อาณาจักรสารสาสน์’ และปัญหาครูทำร้ายเด็ก

เปิดประวัติเครือโรงเรียนสารสาสน์ และปัญหาครูใน รร.สารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าของโรงเรียน และแนวทางเยียวยา 14 ข้อ

เรื่องราวของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ กรณีครูทําร้ายนักเรียนอนุบาลกำลังได้รับความสนใจจากสังคมจนติดอันดับแฮชแท็กทวิตเตอร์ ซึ่งก่อนที่จะอธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเครือโรงเรียนสารสาสน์ ดังนี้

อาณาจักรสารสาสน์

เครือโรงเรียนสารสาสน์ (Sarasas Affliated Schools) มี “พิบูลย์ ยงค์กมล” เป็นผู้ก่อตั้งที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและเป็นเจ้าของเครือโรงเรียนสารสาสน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการโรงเรียนเครือสารสาสน์ จดทะเบียนภายใต้ บริษัท แสงเงินพัฒนาการ จำกัด มีโรงเรียนรวมประมาณ 49 แห่ง โดยมีกลุ่มสารสาสน์วิเทศเป็นโรงเรียนโซนรอบกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โรงเรียนมีปรัชญาการศึกษาว่าคุณธรรมนำวิชา พัฒนาตน โดยมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์โดดเด่นเรื่องเน้นการเขียนลายมือสวยงาม

โรงเรียนแห่งแรกในเครือคือ โรงเรียนสารสาสน์พิทยา และโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์เป็นโรงเรียนลำดับ 24 ของเครือ ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน

ทั้งนี้ ธุรกิจการศึกษาของเครือสารสาสน์ที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีการเปิดโรงเรียนในเครือใหม่ ๆ อยู่ตลอด โดยปีการศึกษา 2563 มีโรงเรียนใหม่ในเครือเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่งคือ สารสาสน์วิเทศปทุมธานี สารสาสน์วิเทศไทรน้อย สารสาสน์วิเทศสุโขทัย และสารสาสน์วิเทศพัชรมณฑล

ปัจจุบันเครือโรงเรียนสารสาสน์มีนักเรียนประมาณ 94,258 คน ครูไทยประมาณ 6,839 คน และครูต่างชาติประมาณ 2,352 คน เป็นโรงเรียนสามัญ และโรงเรียนอาชีวศึกษา จัดหลักสูตรการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วย หลักสูตรสองภาษา (bilingual programme) สอนระดับเนิร์สเซอรีถึงเกรด 12 เรียนวิชาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ค่าเทอมระดับชั้นเนิร์สเซอรี่และอนุบาลสามประมาณ 16,500 – 29,500 บาทต่อเทอม ส่วนระดับเกรด 1 – 12 ประมาณ 34,000 บาทต่อเทอม

หลักสูตรสามัญ (ASEAN bilingual program) สอนระดับอนุบาล 1 – ม.6 มีวิชาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ บางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ ค่าเทอมระดับชั้นอนุบาลประมาณ 15,250 บาทต่อเทอม ส่วนระดับประถมถึงมัธยมประมาณ 14,000 – 17,000 บาทต่อเทอม

และห้องพิเศษที่เน้นการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 90% ใช้ครูต่างชาติเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษ (extra curriculum) สอนระดับอนุบาล 1 – Year 9 ค่าเทอมระดับชั้นอนุบาล – Year 6 ประมาณ 53,000 – 53,500 บาทต่อเทอม ส่วนระดับ Year 7 – 9 ประมาณ 50,000 บาทต่อเทอม

รายได้เติบโตต่อเนื่อง

ข้อมูลงบกำไร-ขาดทุนที่บริษัท แสงเงินพัฒนาการ จำกัด ได้แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าปี 2560 มีรายได้รวม 1,295 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 1,337 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา (2562) มีรายได้รวม 1,452 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัท แสงเงินพัฒนาการ จำกัด ในปี 2560 อยู่ที่ราว 369 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 267 ล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 367 ล้านบาท

เห็นได้ว่าบริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะช่วงก่อนที่มีข่าวกรณีครูทำร้ายเด็กโรงเรียนได้รับความนิยมและไว้วางใจจากลูกค้านั่นก็คือผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะเครือโรงเรียนสารสาสน์เป็นโรงเรียนสองภาษาแห่งแรกในประเทศไทย นับตั้งแต่มีทำการทดลองหลักสูตรนี้ในประเทศเมื่อปี 2536 และมีเครือข่ายโรงเรียนสองภาษาที่ใหญ่ที่สุด

ครูทำร้ายเด็ก

ปัญหาครูทำร้ายนักเรียนอนุบาลที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่ไม่มีคุณภาพ เพราะทางโรงเรียนไม่ได้ดูแลสอดส่องความปลอดภัยของเด็กนักเรียนอย่างเพียงพอ รวมถึงครูหลายคนไม่มีใบประกอบอาชีพครู และครูต่างชาติบางคนไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังเริ่มจากที่กลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ห้องที่ครูจุ๋ม หรือ อรอุมา ปลอดโปร่ง เป็นพี่เลี้ยงผู้ช่วยครู และได้ทำงานกับโรงเรียนมากว่า 7 ปี ได้รวมตัวกันในวันที่ 25 ก.ย. 2563 เพื่อไปดูวีดีโอจากกล้องวงจรปิดของห้องเรียน เนื่องจากเห็นความผิดปกติในตัวลูก ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวการมาโรงเรียน อาการหิวโซตอนไปรับที่โรงเรียน หรือปวดปัสสวะอย่างหนักระหว่างเดินทางกลับบ้าน จนต้องแวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางแทบทุกครั้ง

โดยความจริงได้ถูกเปิดเผยผ่านกล้องวงจรปิดว่า บุตรหลานของพวกเขาได้โดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจจากครูจุ๋มมาเป็นเวลานาน ทั้งการกระชากร่างกาย ไม่ให้ดื่มน้ำ ให้รับประทานอาหารในเวลาสั้น ๆ และเก็บถาดอาหารทันทีโดยไม่สนใจว่าเด็กยังทานไม่หมด และแสดงความไม่พอใจหากเด็กขอให้พาไปห้องน้ำ การที่การกระทำของครูจุ๋มถูกเปิดโปงเป็นเหมือนชนวนให้ปัญหาอื่น ๆ ในโรงเรียนเริ่มถูกขุดคุ้ยขึ้นมาพูดบนโซเชี่ยวมีเดียมากขึ้นจนเหตุการณ์บานปลาย

“ครูจุ๋ม” มอบตัวแล้ว ตำรวจตั้ง 2 ข้อหา ดำเนินการ 8 คดี

ทันทีที่วิดีโอจากกล้องวงจรปิดของห้องครูจุ๋มถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ ทำให้ผู้ปกครองของเด็กอนุบาลห้องอื่น ๆ มีความกังวลใจว่า ลูกหลานของตนเองซึ่งเป็นเด็กเล็กจะได้รับการดูแลไม่เหมาะสมในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จึงได้ไปขอดูกล้องวงจรปิดของโรงเรียนในวันต่อ ๆ มา และทำให้พบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไม่ใช่แค่ครูจุ๋มที่กระทำการอันไม่สมควรต่อเด็กนักเรียนในห้องนั้น แต่มีครูคนอื่น ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติที่ทำพฤติกรรมคล้าย ๆ กับครูจุ๋ม รวมถึงเกิดขึ้นในชั้นอนุบาลหนึ่งห้องอื่นด้วย

“ครูจุ๋ม” โดน 3 ข้อหาหนัก โรงเรียนสั่งไล่ออก 4 ครูที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์น่าจะจบด้วยดี เมื่อ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ในวันที่โรงเรียนและผู้ปกครองนัดหมายเพื่อพูดคุยถึงข้อตกลงเรื่องการเยียวยา (29 ก.ย. 2563) แต่กลับพบว่าตัวแทนฝ่ายโรงเรียนที่มาร่วมประชุมไม่มีเอกสารการแต่งตั้งคณะทำงานจากตัวแทนโรงเรียน และไม่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด รวมถึงไม่สามารถตอบคำถามให้กระจ่างได้ จึงทำให้การประชุมยิ่งดุดันมากขึ้น

ประวัติ รมช.ศึกษา สุดปัง ‘กนกวรรณ วิลาวัลย์’ นำทีมสางปมครูจุ๋ม

ซึ่ง รมช.ศธ. ได้ให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองว่า จะได้รับความยุติธรรม และยืนยันว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารโรงเรียนและครู รวมถึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเอกสารใบประกอบอาชีพครูในโรงเรียน

ผู้บริหารโรงเรียนเปิดใจ

วันนี้ (30 ก.ย. 2563) “พิบูลย์” ให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งทางโทรศัพท์ว่า สาเหตุที่ตนเองไม่ได้เดินทางไปพบผู้ปกครองเพราะความกลัว มีความรู้สึกว่าผู้ปกครองไม่ได้มาออมชอม แต่มาเอาชนะแบบพวกเดินขบวนประท้วง

“ผู้ปกครองพูดไปพูดมาจะมาเอาเงินแค่นั้นเอง ผมยินดีจ่ายตามจริง รับผิดชอบ ไม่ใช่มาคิดค่าตัว และขณะนี้ได้ดำเนินการไล่ออกผู้บริหารของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์แล้ว”

ล่าสุดเมื่อตอนเย็น “ดร.พิสุทธิ์ ยงค์กมล” ผู้บริหารเครือโรงเรียนสารสาสน์ ผู้เป็นลูกชาย ได้ออกมาแถลงเปิดใจ แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชี้แจงว่าบิดาอาจฟังคำถามจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผิดพลาด จึงตอบไปเช่นนั้น

“ที่ผ่านมาโรงเรียนสารสาสน์ มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนในเรื่องนโยบายการต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และจะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ได้เข้าหารือกับกระทรวงศึกษาธิการและได้ข้อสรุปแนวทางการเยียวยาแล้ว”

โดยข้อตกลงในการรับผิดชอบมี 14 ข้อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีที่ผู้ปกครองชองบุตรหลานที่ถูกทำร้ายประสงค์ให้เรียนต่อที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ และกรณีที่ผู้ปกครองประสงค์จะขอย้ายบุตรหลานไปเรียนต่อที่อื่น โดยสรุปคร่าว ๆ ดังนี้

กรณีเรียนต่อที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์

  1. คืนค่าเทอมและค่าธรรมเนียมอื่นของปีการศึกษา 2563 ให้กับนักเรียนทุกคนที่อยู่ในห้องเรียนที่มีการทำร้านเด็ก
  2. ติดกล้องวงจรปิดมุมต่าง ๆ เพิ่ม และให้มีจอขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถนั่งดูได้ที่โรงอาหาร
  3. จัดทำป้ายและรูปแสดงรายละเอียดของครู พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหน้าห้องเรียนทุกห้อง
  4. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ซึ่งรวมทั้งทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนที่ถูกกระทำ
  5. มีนักจิตวิทยาไว้สำหรับเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบ
  6. อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปตรวจสอบสุขอนามัยในพื้นที่ที่นักเรียนใช้ โดยต้องขออนุญาตและแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ธุรการก่อน
  7. แจ้งรายการอาหารให้กับผู้ปกครองทราบล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ เพิ่มช่วงเวลาในการรับประทานอาหารจาก 30 นาที เป็น 40 นาที
  8. มีการคัดกรองด้านสุขภาพจิตครูไทยและต่างชาติ
  9. จัดระบบรถรับ-ส่งที่มีที่นั่งที่เพียงพอ และมีการติดตั้งกล้องในรถ
  10. มีการประชุมผู้ปกครองของทุกระดับชั้น ทุกปีการศึกษา ในปีการศึกษา 2563 โดยเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2563 นี้

กรณีที่ผู้ปกครองประสงค์ย้ายบุตรหลานไปเรียนต่อที่อื่น

  1. โรงเรียนอำนวยความสะดวกในการทำเอกสารส่งตัวให้แก่นักเรียนภายใน 1 วัน
  2. คืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นในปีการศึกษา 2563
  3. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในทางการแพทย์ทั้งร่างกายและจิตใจของให้แก่นักเรียน
  4. ค่าชดเชยหรือค่าบำรุงขวัญให้กับผู้ปกครอง