ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด และเชฟรอน ระดมนักวิจัยอาเชียนแก้ปัญหา STEM

ที่มาภาพ: เชฟรอน

ประเทศไทยโดย “ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด” จับมือ “เชฟรอน” ผนึกนักวิจัย 11 ชาติอาเซียน แก้ปัญหาเยาวชนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์โลกเพราะไม่ใช้ STEM ในการศึกษาได้ดีพอ พร้อมเตรียมเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายภาครัฐแต่ละชาติ เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค. 2564) ประเทศไทยโดยศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education) หรือศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด (SEAMEO STEM-ED) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายนักวิจัยอาเซียน ภายใต้ชื่องาน Chevron – SEAMEO Research Workshop for Strengthening Regional STEM Education in Southeast Asia

นับเป็นปีแรกของงานประชุมเครือข่ายนักวิจัยอาเซียน ซึ่งงานประชุมเริ่มขึ้นในวันที่ 10 และจะจัดไปจนถึงวันที่ 12 มี.ค. 2564 ผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยเมื่อวานทางสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) เป็นเจ้าภาพ ส่วนวันที่ 11-12 มี.ค. ประเทศไทยโดยทางศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นเจ้าภาพ โดยมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต จำกัด และ เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ภายในงานมีผู้เกี่ยวข้องหลักในวงการการศึกษาของภูมิภาค ประกอบด้วย นักวิจัยจาก 26 ศูนย์ซีมีโอ ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาและผู้ปฏิบัติจาก 11 ชาติอาเซียน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ที่มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยทุนทำวิจัยของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อพัฒนางานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ สำหรับประยุกต์ใช้แก้ปัญหาเยาวชนอาเซียนที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์โลก

นอกจากนี้จะมีนำเสนองานวิจัยที่ถอดบทเรียนจากโครงการเชฟรอน เอนจอย ไซเอนซ์ฯ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมา ให้กับนักวิจัยทั้งของไทยและประเทศสมาชิกได้ทราบ โดยเฉพาะในด้านแนวทางพัฒนาทักษะการสอนนักเรียนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชนทางวิชาชีพครู (PLC) รวมถึงการประเมินครูผู้สอน ที่ล้วนมีส่วนสำคัญต่อเด็กนักเรียนและคุณภาพการศึกษา โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาสำคัญที่หลายชาติอาเซียนกำลังประสบอยู่

งานวิจัยยกระดับการศึกษาในอาเซียน

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป้าหมายร่วม 3 ประการที่ผู้นำทางการศึกษาในภูมิภาคตั้งใจจะบรรลุ คือ 1. เพื่อปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่วัดโดยการประเมินระดับนานาชาติ เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือ PISA 2. เพื่อย้ายทรัพยากรไปสู่กระบวนทัศน์การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนมากขึ้น และ 3. เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนให้มีทักษะฝีมือ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ในการดำเนินการนี้เราจำเป็นต้องส่งเสริมนโยบายที่สนับสนุนครูและผู้นำโรงเรียนในการนำแนวทางการสอนที่มีประสิทธิภาพไปใช้ และการเสริมสร้างการศึกษา STEM เป็นเส้นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคของเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

จากการศึกษาจำนวนมากทั่วโลกเห็นได้ชัดว่า การศึกษาด้าน STEM มีประโยชน์ต่อการศึกษาตั้แต่ระดับอนุบาลถึงเกรด 12 หรือ ม.6 แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ STEM ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมในหมู่นักวิจัยเกี่ยวกับ STEM และความเป็นผู้นำโรงเรียนที่มีประสิทธิผล จะชี้นำประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้ใช้หลักฐานการวิจัยในการกำหนดนโยบายได้

“SEAMEO จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ในการเชื่อมโยงนักวิจัยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคใกล้เคียง และสร้างความร่วมมือที่ก้าวหน้ากับผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายการศึกษาในแต่ละประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของวิทยากรในงานประชุมครั้งนี้ และหวังว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 2 วันจะช่วยวางรากฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนนโยบายการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ”

ผลักดันรัฐออกนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า SEAMEO STEM-ED เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นศูนย์การวิจัยและเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ภายใต้ร่มของ SEAMEO โดยการอุปถัมภ์ของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการในเดือน พ.ย. 2562 มีภารกิจพัฒนาและเผยแพร่โครงการที่เกี่ยวกับ STEM นโยบาย และแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิผลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED

“แม้ว่า SEAMEO STEM-ED จะได้รับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ได้รับอนุญาตให้ขอทุนจากภายนอกได้ และในฐานะหน่วยงานระหว่างรัฐบาลในกำกับของรัฐจึงทำให้เรามีโอกาสในการระดมทรัพยากรจากประเทศอื่นในภูมิภาค และระหว่างประเทศ ตลอดจนแจ้งให้ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ช่วยจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินนโยบายและโครงการการศึกษา STEM ให้มีประสิทธิผล”

ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย. 2560 มีการทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง SEAMEO STEM-ED ในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SEAMEO จากการวิจัยพบว่า โปรแกรมการศึกษาหรือโครงการส่วนใหญ่ที่เปิดตัวโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการของ STEM และปัจจุบันแนวทางการศึกษา STEM แบบบูรณาการในภูมิภาคนี้มักไม่ได้รับความสนใจในระดับชาติเพียงพอ และมีการกล่าวถึงน้อยหรือไม่มีเลย แต่ STEM จะถูกดำเนินการแยกกันไปในโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษาและโพลีเทคนิคมากกว่า

ดร.พรพรรณ กล่าวด้วยว่า มีข้อสังเกตว่าผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคไม่ได้พิจารณาหลักฐานงานวิจัยในการออกแบบนโยบาย เพื่อปรับปรุงการศึกษา STEM แบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง

“ดังนั้นเจตนาของโครงการ Chevron-SEAMEO คือการทำให้ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐสามารถเข้าถึงนักวิจัยที่ดีที่สุดมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้สอบถามและตอบคำถามซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับผลกระทบของวิจัย รูปแบบของการดำเนินการ และต้นทุนของการดำเนินการ นอกจากนี้เรายังหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์กับนักวิจัยด้านการศึกษา STEM ในพื้นที่ทางภูมิภาคอื่น ๆ”

เหตุผลที่เชฟรอนส่งเสริม STEM มาตลอด

นางสาวดี บอร์บอน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนทางสังคม เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น (Miss Dee Bourbon, Senior Social Investment Advisor, Chevron Corporation) กล่าวว่า ที่ทำงานของเชฟรอนคือการรวมตัวของวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อมและนักเทคโนโลยี และพัฒนานักแก้ปัญหามาแล้วรุ่นต่อรุ่น นอกจากนั้บริษัทยังเชื่อว่าการพัฒนาการการศึกษาและทักษะการทำงาน จะช่วยชุมชนทั่วโลกให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคม

นางสาวดี บอร์บอน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนทางสังคม เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น (Miss Dee Bourbon, Senior Social Investment Advisor, Chevron Corporation)

สาเหตุที่เชฟรอนส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมด้าน STEM มี 3 เหตุผลหลัก คือ 1. STEM คือกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เชฟรอนมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้คนทั่วโลก ผ่านการลงทุนในการศึกษา และการฝึกอบรมงานเพราะเรารู้ว่าจะช่วยให้ชุมชนเจริญ 2. ต้องการสนับสนุนโครงการการศึกษาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อวางตำแหน่งนักแก้ปัญหารุ่นต่อไป ให้มาแก้ไขความท้าทายที่ซับซ้อนในอนาคต และ 3 การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและงานที่มีทักษะ จะช่วยปรับปรุงให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงให้เงินสนับสนุนโครงการที่กำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับกลุ่มต่าง ๆ

“เราทราบดีว่ามีช่องว่างของทักษะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจากการรายงานของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ในช่วงปี 2558 – 2561 มีนักเรียนน้อยกว่า 30% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จบการศึกษาจากสาขาที่เกี่ยวข้องกับ STEM ในระดับอุดมศึกษา”

ดังนั้น การแก้ไขช่องว่างของทักษะโดยการเสริมสร้างการศึกษา STEM และการบูรณาการทักษะที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเข้ากับโปรแกรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความสามารถในการจ้างงานของคนหนุ่มสาวในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในเศรษฐกิจโลก และครูต้องมีประสบการณ์ในการสอนวิชาเทคนิค

เพื่อสนับสนุนการศึกษา STEM ในภูมิภาค เชฟรอนทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในโปรแกรมต่าง ๆ ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้นกับ STEM และสนับสนุนให้พวกเขาเรียนหลักสูตร STEM และในที่สุดก็คือ ทำอาชีพ STEM

นางสาวดี บอร์บอน บอกว่า ในออสเตรเลียเชฟรอนสนับสนุนโครงการ Lighthouse Math ซึ่งเป็นการพัฒนาวิชาชีพที่เข้มข้นและยาวนานตลอดทั้งปี เพื่อเปลี่ยนความเชื่อมั่น ทัศนคติของครูเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนคณิตศาสตร์ หลีกเหลี่ยงการสอนแบบท่องจำ แต่ใช้การอธิบายเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการฝึกอภิปราย การแก้ปัญหา และการให้เหตุผล

ในบังกลาเทศปี 2562 เราได้ให้การสนับสนุน The Asian University for Women (AUW) ในการคัดเลือกนักเรียนหญิงมัธยมปลายที่มีความสามารถ 61 คนจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมโครงการเร่งรัด 5 สัปดาห์ที่มุ่งเน้นไปที่ STEM ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน AUW Math & Science Summer School โดยโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และชีวสารสนเทศศาสตร์ นักเรียนได้ความเข้าใจที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับอาชีพในอนาคต ควบคู่ไปกับทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่เพิ่มขึ้น

“ส่วนหนึ่งในโครงการที่เป็นเอกลักษณ์ด้านการศึกษา STEM ของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Chevron Enjoy Science Project ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนระยะเวลา 7 ปี รวมมูลค่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างการศึกษา STEM ในโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทย”

ทั้งนี้ บทสรุปและแนวทางที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนออีกครั้ง ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอคองเกรส (SEAMEO Congress) ที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้