ม.อ. อนุญาต นศ. แต่งกายตามเพศสภาพ จัดทำห้องน้ำเพศที่ 3

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเสรีนักศึกษาแต่งกายตามเพศวิถี อนุญาตให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบนักศึกษาชายและหญิงตามอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด รวมทั้งการเข้าร่วมพิธีการต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด เริ่มมีผลปฏิบัติวันที่ 29 พ.ค. 64 พร้อมมีแผนจัดทำห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้ด้านกฏหมายทั้ง 5 วิทยาเขต เพื่อพิจารณาร่างประกาศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยได้มีมติเห็นชอบประกาศเรื่องแนวปฎิบัติการแต่งกายของนักศึกษาตามเพศสภาพหรือเพศภาวะ หรืออัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ.ศ. 2564

โดยเป็นการสมควรกำหนดแนวปฏิบัติการแต่งกายของนักศึกษาตามเพศสภาพ หรือเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและคุ้มครองมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2559 ประกอบกับข้อ 7 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2560 โดยประกาศนี้มีผลบังคับใช้ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่วันถัดจากประกาศเป็นต้นไป ดังนี้

  1. ให้นักศึกษามีสิทธิแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาที่ใช้เป็นปกติในข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2560 ตามเพศสภาพหรือเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนได้
  2. นักศึกษายังมีสิทธิแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาในงานพิธี เช่น การรับปริญญา ประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิต และประกาศนียบัตรมหาบัณฑิต ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2560 ตามเพศสภาพหรือเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนได้
  3. นักศึกษามีสิทธิแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาเฉพาะกรณี เว้นแต่การแต่งกายของนักศึกษาในรายวิชาปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อกำหนดการแต่งกายของคณะนั้น ๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น

ผศ.ดร.นิวัติ อธิบายต่อว่า กรณีที่มิได้กำหนดไว้หรือที่กำหนดไว้ไม่ชัดเจนในประกาศนี้ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่อนผันข้อกำหนดในประกาศนี้เป็นกรณีพิเศษ ให้อธิการบดีมีอำนาจตีความวินิจฉัยและให้ถือเป็นที่สุด

สำหรับการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาชายและนักศึกษาหญิงให้เป็นไปตามภายใต้ระเบียบของทางมหาวิทยาลัยกำหนด ในกรณีที่เครื่องแบบนักศึกษาหญิงที่ประสงค์จะใช้ผ้าคลุมศีรษะต้องเป็นผ้าคลุมสีขาวเกลี้ยง ไม่มีลวดลาย ซึ่งการประกาศดังกล่าวตอกย้ำการให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิของความเป็นมนุษย์มิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้นักศึกษาได้ยื่นเรื่องให้ทางมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาแก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนบัตรประจำตัวนักศึกษา เพื่อให้มีความเท่าเทียมทางเพศ โดยเสนอแนะให้ยกเลิกคำนำหน้าชื่อบนบัตรประจำตัวนักศึกษาและภาพถ่ายนักศึกษา ตลอดจนสามารถแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามเพศสภาพซึ่งไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในส่วนของบัตรประจำตัวนักศึกษา โดยไม่มีการระบุคำนำหน้าชื่อของนักศึกษาแล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนจัดทำห้องน้ำสำหรับนักศึกษาเพศที่ 3 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และสร้างความสบายใจแก่นักศึกษา

ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ม.อ.

“เพศสภาพถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปในสังคม โดยกฏหมายอนุญาตให้ดำเนินการและกระทำได้ ซึ่งในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานราชการ ต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามกฏหมายในการให้สิทธิความเท่าเทียมกันของบุคคล ซึ่งนักศึกษาทุกคนมีศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์เท่ากัน อีกทั้งนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในตลาดแรงงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักศึกษากลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีความกดดัน มีอิสระเสรีในการแสดงออกจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อส่งเสริมความพร้อมรอบด้านทั้งวิชาการ ร่างกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง”