เด็กอาจหลุดระบบการศึกษา 6.5 หมื่นคน เหตุยากจนเฉียบพลัน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

กสศ.คาด สิ้นปี’64 อาจมีเด็กหลุดนอกระบบการศึกษากว่า 6.5 หมื่นคน โอกาสต่อมหาวิทยาลัยเหลือ 10% พบความยากจนเฉียบพลัน แนะรัฐปรับเงินอุดหนุนรายหัวให้ตรงกับค่าใช้จ่ายจริง 

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหมื่นคน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน

หากหลุดจากระบบระดับประถมศึกษาอาจจะมีจำนวนไม่มาก เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับโดยจะมีประมาณ 4% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48% และในจำนวนนี้เด็กที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยมีเพียง 8-10%

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องจากวิกฤตของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ ในปีการศึกษา 2564

ศ.ดร.สมพงษ์ระบุว่า กสศ.อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ปีละ 3,000 บาท ต้นทุนการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร อยู่ประมาณ 2,058-6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้ นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวก็ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปีไม่มีการปรับเพิ่มท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด หนี้นอกระบบเพิ่ม

ดังนั้นจะต้องเร่งแก้ปัญหาจริงจัง โดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง ที่ตอนนี้เงินดังกล่าวต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2,000-3,000 บาท หากไม่แก้ไขในภาคเรียนที่ 2 จะมีเด็กหลุดจากระบบมากกว่านี้ และเป็นวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา เรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และการหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ยกตัวอย่างโมเดลของจังหวัดพิษณุโลก และภูเก็ตเป็นการทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ