ประยุทธ์ จี้ครู สอนเด็กให้มีความคิด เข้าใจประวัติศาสตร์ ลดความขัดแย้ง

ประยุทธ์

“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เปิดโครงการพาน้องกลับมาเรียน ตั้งเป้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ มอบนโยบายทุกหน่วยงานช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดูชีวิตความเป็นอยู่ผู้ปกครอง สร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพ พร้อมจี้ครูสอนเด็กให้คิดเป็น มี mindset ที่ดี – เข้าใจประวัติศาสตร์ ลดความขัดแย้ง

วันที่ 17 มกราคม 2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่

สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กที่ตกหล่นออกนอกระบบการศึกษาจำนวนมากกว่าแสนราย รัฐบาลต้องช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งหากเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว ก็จะมีอนาคตที่ดี มีทางเลือกในชีวิตในการประกอบอาชีพ มีความรู้ความสามารถ มีงานดี ๆ ทำ ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ เพราะเด็กหลายคนออกจากระบบไม่ใช่เพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่ด้วยความจำเป็นบางอย่างที่เขาต้องเผชิญ มีหลายบริบทที่เราต้องช่วยกันหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด สิ่งสำคัญอยากให้ดูแลความพร้อมผู้ปกครองด้วย เพราะถ้าเรานำเด็กกลับเข้ามาตอนนี้ ต่อไปจะหลุดอีกหรือไม่

ถึงแม้เรามีค่าใช้จ่ายให้ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะบางครอบครัวผู้ปกครองอาจประสบปัญหาทางด้านการงาน อันเป็นปัญหาลึกซึ้งที่อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกันให้ดีเพื่อลงไปช่วยดูแล

ทั้งนี้การใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และเราไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น แต่ละหน่วยงานต้องช่วยกันคิด ในฐานะผู้นำในเรื่องต่าง ๆ ดูแลงบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าในการส่งเสริมภารกิจที่มีความสำคัญกับประเทศชาติของเรา เพราะฉะนั้นความร่วมมือครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นของขวัญสำคัญที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนไทย ขอฝากทุกคนว่าการให้โอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่

เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง หาวิธีการที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ วัดผลได้ อีกอย่างคือ มาตรฐานการเรียนการสอนแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน เพราะแม้ว่าเราจะตามเด็กเข้ามาเรียน แต่บางคนถ้าได้เรียนสถานที่เดิม ๆ แล้วโรงเรียนนั้นไม่มีคุณภาพก็ต้องพิจารณาข้อนี้ด้วย

“ผมจำได้ว่านโยบายของ ศธ. คือการสร้างโรงเรียนดีที่มีคุณภาพ มีการลดขนาดโรงเรียนเล็กลงไป เพื่อให้เกิดโรงเรียนดีมีคุณภาพ เพื่อกระจายการใช้จ่ายงบให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่คุณภาพตอนนี้ยังไม่ได้ เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนดี มีคุณภาพ มีครบทุกอย่าง มีจำนวนนักเรียนมากเพียงพอ ครูมากเพียงพอ หากทำสำเร็จ ผลย่อมเกิดกับคนในชาติต่อไป”

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมกังวลคือสอนให้เด็กมีความคิด มี mindset ที่ดีในหลายเรื่องด้วยกัน ต้องเรียนรู้ ในห้องเรียน นอกห้องเรียน ที่เป็นประโยชน์ แล้วนำกลับมาคิด เช่น ทำไมประเทศอื่นเขาพัฒนาไปได้แบบนี้ ประเทศเรามันติดอยู่ตรงไหน เขาจะได้ช่วยเราคิด แล้วเขาจะได้เตรียมตัวเขาในอนาคตว่าจะเรียนอะไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และชุมชนของเขา ไม่อยากให้ทุกคนเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เรียนมาแล้วสร้างหนี้สินติดตัว เพราะมันทำให้ทุกอย่างพัฒนาไม่ได้ อยากให้เปรียบเทียบกับต่างประเทศว่าเขาพัฒนากันอย่างไร”

“อย่างประเทศไทยมีหลายอย่างที่สร้างรายได้เข้าประเทศ เช่น การเกษตร ส่งออก ท่องเที่ยว กีฬา การลงทุนต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด จะทำอย่างไรที่จะมีคนคุณภาพลงไปสู่ตรงนั้น มีส่วนร่วมพัฒนาตรงนั้น โดยเฉพาะการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง วันนี้เราอาจช้าไป ก็ต้องเร่งสร้างความคิด สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ทุกอย่างยากหมด”

“โดยเฉพาะในโลกการแข่งขันทุกวันนี้ ทุกคนต้องเตรียมพร้อมมากกว่านี้ อาจจะเหนื่อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ง่ายที่จะแสวงหาความรู้จากช่องทางดิจิทัล ขอให้สร้างความคิดนี้ให้ได้ว่าเขาโตขึ้นจะทำอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระครอบครัว นี่คือเป้าหมายของการศึกษา”

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าการสร้างโอกาสทางการศึกษา ต้องเน้นเรื่องโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาที่เด็กควรจะได้รับ และเน้นในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ปกครองด้วย สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือการแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือน ผ่านความร่วมมือกับหลายกระทรวง ซึ่งต้องเริ่มต้นในปี 2565 ด้วยการลงไปติดตามรายพื้นที่และหาทางช่วยเหลือดูแล ได้มีการมอบหมายแนวทางไปแล้ว

สุดท้ายแล้ว อุปสรรคมีไว้ฝ่าฟันปัญหามีไว้ให้แก้ไข อย่าท้อแท้ ถ้าโลกไม่มีปัญหา โลกไม่มีอุปสรรค โลกก็จะไม่เจริญทุกคนก็จะนั่งเฉย ๆ ใช้ชีวิตไปวันวัน โลกมีทั้งอุปสรรค มีปัญหา มีบทเรียนต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะประเทศไทย อะไรที่ไม่ดี อะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ดีก็เรียนรู้ อะไรที่ไม่ดีก็อย่าทำอีก ในทุก ๆ เรื่อง นั่นคือประวัติศาสตร์ อย่าบอกว่าประวัติศาสตร์ไม่มีความสำคัญ ทุกอย่างมีประวัติศาสตร์มาทั้งหมด

การพัฒนาประเทศ พัฒนาบ้านเมือง ผมถึงให้แนวคิดไว้ว่า หากจะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ต้องรู้ว่าประวัติศาสตร์ ทำไมถึงต้องทำแบบนั้น ความขัดแย้ง สงคราม มีที่ใดบ้าง เกิดจากอะไร เด็กรู้หรือไม่ ทำไมบางที่เขาถึงไม่ค่อยทะเลาะกัน เพราะเห็นแล้วว่าประวัติศาสตร์ทำให้เกิดอะไรกับประเทศเขา เกิดความเสียหาย จากความไม่สามัคคี เกิดจากความขัดแย้งระดับต่ำสู่ระดับสูง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ครูต้องสอนใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำไมจึงต้องเรียนตรงนี้ เรียนไปเพื่ออะไร นี่คือหลักการเรียนการสอน คือการเรียนไปทำอะไรเรียนไปเพื่ออะไรแล้วจะได้อะไร ประเทศไทย สังคมได้อะไร นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะพูดในวันนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ต้องใช้งบฯ

ด้านนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่าน โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบัน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัด สพฐ. จำนวน 78,003 คน สังกัด สป. จำนวน 50,592 คน สังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 ราย

“ทางกระทรวงมีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อ “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด และจะได้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดกับทุกเคสทุกกรณีกันต่อไป เบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน”

“จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ในวันนี้ ให้ช่วยติดตาม เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง” นางสาวตรีนุช กล่าว