ม.ศรีปทุม บรรจุ NFT ในหลักสูตร นักศึกษาโชว์ผลงานขายได้หลักแสน

มหาวิทยาลัยศรีปทุมรีบปรับตัวและปรับหลักสูตรให้เท่าทัน พัฒนานักศึกษาให้พร้อมสำหรับอนาคต สอดแทรกเนื้อหา NFT ในหลายวิชา

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม (Sripatum University – SPU) บรรจุ Non Fungible Token (NFT) ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอย่างจริงจัง เพื่อเปิดประตูสู่เส้นทางสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้นักศึกษา ควบคู่กับการฝึกปรือฝีมืองานศิลป์สู่ตลาดนานาชาติผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน blockchain

ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยว่า การมาของเทคโนโลยี blockchain ได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนทางอินเตอร์เน็ตที่มีค่า นอกจากสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) เทคโนโลยีตัวนี้ยังสามารถแลกเปลี่ยน ผลงานศิลป์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ได้โดยผ่านตลาดที่เรียกว่า NFT ซึ่งเป็นการนำผลงานขึ้นบนระบบบล็อกเชน ทำให้สามารถแสดงความเป็นเจ้าของงานศิลปะได้ในรูปแบบดิจิทัล

“ประมาณสองปีก่อน NFT ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่มีอะไรน่าศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจาก NFT ก็มีเรื่อง Play-to-Earn เข้ามา มีเรื่อง Metaverse อีก ในฐานะอาจารย์ เราต้องเข้าใจว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะนักศึกษาที่เราสอนจะเติบโตไปทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านี้

ปัจจุบันตลาด NFT ได้รับความนิยมอย่างมาก จากเหล่านักสะสมและเจ้าของผลงานต่าง ๆ ยิ่งผลงานที่โดดเด่นก็ยิ่งสร้างมูลค่าได้สูง บางผลงานมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาท จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลัง NFT มีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกอนาคต และ NFT คงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์เหมือนที่อินเทอร์เน็ตเป็นในทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงไม่รอช้า รีบปรับตัวและปรับหลักสูตรให้เท่าทัน พัฒนานักศึกษาให้พร้อมสำหรับอนาคต โดยสอดแทรกเนื้อหา NFT เข้าไปในหลายวิชา ไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่รวมทุกองค์ความรู้ที่จำเป็นด้วย เช่น นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการลงผลงานผ่านเว็บไซต์ OpenSea ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนที่เป็นที่นิยม

เรามีนักศึกษาที่มีฝีมืออยู่เยอะมาก และขณะนี้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีปทุมหลายคนได้นำผลงานลงขายจนมีรายได้สูงถึงหลักแสนบาท และมีการเปิดประมูลที่สร้างรายได้สูงถึง 7 แสนบาทภายในภาพ ๆ เดียว เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมาก”

ผศ.เกรียงไกรกล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมหันมาให้ความสำคัญกับ NFT เพราะช่วงโควิด-19 มีนักศึกษาประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่ง NFT อาจเป็นช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ให้พวกเขา ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินขายดิจิทัลอาร์ตแบบออริจินัล และเป็นไปได้ที่จะรับรายได้เป็นส่วนแบ่งในทุก ๆ การขาย ยิ่งมีคนซื้อและไปขายต่อเท่าไร เจ้าของผลงานยิ่งได้รับประโยชน์

“การทำงานศิลปะสวยเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ตลาดกลุ่ม NFT กว้างกว่านั้น กลุ่มคนซื้ออยู่ทั่วโลก งานศิลปะอาจไม่ต้องโชว์ทักษะมากก็ได้ และไม่ต้องเป็นภาพเสมอไป อาจเป็นรูปถ่าย เพลง หรือการแสง ที่มีคอนเซ็ปต์และดีไซน์เฉพาะตัว ที่สำคัญต้องวางแผนการตลาดและการโปรโมตให้คนรู้จักเป็น

นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน บางแห่งเหมาะกับการประมูล บางแห่งเหมาะกับการลงงานเป็นคอลเล็กชั่น แต่ละแห่งเสียค่ามินท์ ค่าแก๊ส ไม่เท่ากัน รวมถึงควรเข้าใจเรื่อง Cryptocurrency, Blockchain และ Cybersecurity พื้นฐาน การสื่อสารกับลูกค้าหรือนักสะสม และการสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเอง”

ทั้งนี้ เพื่อสอนให้ได้อย่างลึกซึ้ง ผศ.เกรียงไกรตั้งใจเป็นนักปฏิบัติที่สร้างผลงานและลงขายเองด้วย หนึ่งในตัวอย่างผลงานคือ The 3D Devils คอลเล็กชันปีศาจที่ใช้ดวงตาสื่อสารความรู้สึกและจิตวิญญาณ ทำให้อาจารย์รู้จริงจากการลงมือทำ ไม่ได้เข้าใจแต่เพียงทฤษฎี

นอกจากอาจารย์จะพร้อมแล้ว คณะเองก็หาหนทางสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเช่นกัน ทั้งการชวนศิษย์เก่าและปัจจุบันมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ จัดทำเนื้อหา ให้คำปรึกษาเรื่องการขายงาน จัดตั้งกองทุนที่มอบทุนให้นักศึกษาไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายบนแพลตฟอร์ม

ผศ.เกรียงไกรบอกว่า ตอนนี้ดำเนินการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Metaverse และจะเริ่มส่งนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ ฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ในบริษัทหลายแห่งด้วย ด้วยการสนับสนุนนี้ เราจะได้เห็นนักศึกษาของคณะดิจิทัลมีเดียขายผลงาน 1 ชิ้นได้ในหลักแสนบาท และคงเกิดปรากฎการณ์แบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้จะมีผู้คนถกเถียงกันว่า NFT ถือเป็นงานอาร์ตหรือเปล่า และอาจเป็นเพียงกระแสที่เข้ามาสักพักแล้วเกิดฟองสบู่แตก แต่เชื่อว่า NFT อยู่ที่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอะไรให้มนุษย์ค้นหาอีกมากมาย