สกว.จับมือจุฬาฯ พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา ลดต้นทุนอุตสาหกรรมปีละ 100 ล้านบาท

“ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการชี้ทิศทางและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมี สำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” (CAT-REAC industrial project)

เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สกว. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ซึ่งมี “ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

“ศ.นพ.สุทธิพันธ์” กล่าวว่า ระยะแรกของโครงการ สกว.จะสนับสนุนงบประมาณวิจัยปีละ 15 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนร่วมทุนอีกปีละ 7.3 ล้านบาท รวมงบประมาณในเฟสแรกทั้งสิ้น 66.9 ล้านบาท เพื่อสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสมกับประเทศไทยและอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อีกทั้งลดปัญหาที่สำคัญของไทยคือ การใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีอยู่ไม่เต็มประสิทธิภาพ และขาดการพัฒนาและการผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้เอง อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น (disruptive technology) ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและอุตสาหกรรมเอทานอล

“โครงการนี้เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในขั้นก่อนการแข่งขัน (Pre-competitive stage) เพื่อหาทิศทางที่เหมาะสมในการแปรรูปไบโอดีเซลและเอทานอล โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดใหม่เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และรองรับการทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยอุตสาหกรรมที่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น”

“คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานวิชาการให้มีความเป็นเลิศด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหรือสมาชิกตั้งต้นโครงการจำนวน 5 บริษัท และจะเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและผลการวิจัยได้”

“ศ.ดร.บัณฑิต” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรวบรวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย

รวมถึงให้การสนับสนุนให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงการวิจัยทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งปกติจะต้องใช้งบลงทุนสูงมาก โดยจะมีการเผยแพร่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาและเครื่องปฏิกรณ์ การจัดการอบรมเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาและเครื่องปฏิกรณ์ให้แก่อุตสาหกรรม ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาและเครื่องปฏิกรณ์กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม การทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับอุตสาหกรรม เป็นต้น

“ศ.ดร.ปิยะสาร” กล่าวถึงภาพรวมของโครงการว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ มากมาย โดยมีสถิติการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาจากต่างประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ตัวเร่งปฏิกิริยาเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไบโอดีเซล และเอทานอล

“จากข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่าโรงงานผลิตไบโอดีเซลในประเทศมีกำลังผลิตรวมประมาณ 132 ล้านตัน/ปี และกำลังผลิตรวมของเอทานอล ประมาณ 1,200 ล้านลิตร/ปี รวมถึงยังมีโรงงานผลิตไขจากน้ำมันพืชเพื่อใช้ทำเนยเทียมจำนวน 9 โรงงาน”

ปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย ยังขาดองค์ความรู้ทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในกระบวนการผลิต ขาดความสามารถในการพัฒนาและผลิตตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อใช้ได้เอง

“ที่สำคัญยิ่งคือขาดการกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มในการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่กำลังใช้งานอยู่ รวมทั้งทิศทางที่จะนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์พลอยได้ไปใช้ผลิตสารเคมีอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ ขาดการวิจัยชี้เป้า ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในเวทีระดับนานาชาติ”


ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีฐานความรู้ด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง เป็นต้น