3 ปี “กุลิศ” ยกเครื่องกรมศุลฯ ส่งไม้อธิบดีใหม่เคลียร์ “ลดภาษี-แก้ปมรถประมูล”-

ตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรตั้งแต่อดีตมักจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย ทว่า “กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบัน ก็นั่งตำแหน่งนี้มาได้ถึง 3 ปี แถม 1 ต.ค. 2561 นี้ เขายังจะข้ามห้วยไปนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงพลังงาน ส่วน “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” อธิบดีกรมสรรพสามิต จะมาเป็นอธิบดีกรมศุลกากรแทน

ก่อนอำลาตำแหน่ง “กุลิศ” จัดแถลงผลงาน โดยเปิดเผยถึงผลงานชิ้นโบว์แดง โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกรมศุลกากร ที่ถือเป็นการ “ยกเครื่อง” กฎหมายที่ใช้มานานตั้งแต่ปี 2469 เพื่อให้กฎระเบียบต่าง ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อ 13 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่มีไฮไลต์สำคัญเรื่องการลด “สินบนนำจับและเงินรางวัล” ตั้งแต่อดีตมีความพยายามแก้ไขมาหลายสมัย แต่เพิ่งมาสำเร็จในยุคนี้

นอกจากนี้ กรมยังเตรียมออกประกาศ เรื่อง การยกเลิกการระงับบังคับคดี (ในชั้นกรมศุลกากร) สำหรับการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดซ้ำ ๆ เช่น สินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ และสินค้าเกษตรบางรายการ เป็นต้น

“ต่อไปเมื่อพบว่ามีผู้ขนส่งสินค้ากระทำความผิดในครั้งแรก จะถูกขึ้นบัญชีความเสี่ยงทันที แล้วถ้ามีการกระทำความผิดซ้ำเป็นครั้งที่สองก็จะถูกสั่งฟ้องดำเนินคดี และไม่สามารถระงับคดีในชั้นศุลกากรได้”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา “กุลิศ” ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และนำไปสู่การยกระดับตัวชี้วัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (doing business) ได้แก่ กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนที่เรือ/อากาศยานจะเข้ามาถึง, การให้บริการระบบสืบค้นพิกัดล่วงหน้า (HS check) ในรูปแบบ mobile application, ระบบฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร

ยังมีระบบเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตศุลกากรการ (e-Matching), พิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transition), การคืนอากรตาม ม.29 ทวิ (e-Refund) การจัดทำโครงการ “พันธมิตรศุลกากร” เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามกับ Alibaba Group ในความร่วมมือด้าน smart digital hub and digital tranformation strategic partnership ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และได้นำระบบ national single window (NSW) ยกระดับขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกอย่างเบ็ดเสร็จ ณ หน้าต่างเดียว

“ตั้งแต่ 1 เม.ย. ถึง 31 ส.ค. 2561 มีจำนวนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงผ่านระบบ NSW จำนวน 52,150,792 ฉบับ และกรมได้เร่งรัดผลักดันเพื่อดำเนินการเชื่อม แชร์ และใช้ข้อมูลร่วมกันทั้งในระดับ G2G และ B2G”

ส่วนด้านการควบคุมทางศุลกากรและปกป้องสังคม มีการใช้ big data วิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่ออำนวยความสะดวก โดยได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการข่าว customs intelligence center เพื่อเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่ไม่สุจริต โดยใช้ระบบ CCTV 2204 รวมถึงการนำระบบ e-Lock มาใช้กับสินค้าผ่านแดน และการ X-ray คร่อมสายพาน

“กุลิศ” บอกด้วยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำระบบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถชำระภาษีที่ถูกเรียกเก็บในกรณีสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านระบบคิวอาร์โค้ดได้ คาดว่าระบบนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2562

“ปัจจุบันมีพัสดุที่เป็นสินค้าที่สั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศกว่า 1 แสนชิ้นต่อวัน โดยกฎหมายระบุว่า ถ้าสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเราจะมีการคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น โดยล่าสุดกรมได้ซื้อเครื่องเอกซเรย์มาใช้ตรวจสินค้านำเข้าดังกล่าวแล้ว 1 เครื่อง และเตรียมซื้อเพิ่มอีก 2 เครื่อง เพื่อตรวจจับสินค้านำเข้าที่มีการละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่มีการสำแดงเท็จ”

สำหรับผลงานการเก็บรายได้นั้น “กุลิศ” บอกว่า ปีงบประมาณ 2561 คงทำได้ 1.08 แสนล้านบาทตามเป้า ส่วนปีงบประมาณ 2562 ได้รับเป้าหมายที่ 1.1 แสนล้านบาท

ขณะที่เรื่องการนำเข้ารถหรูที่ผ่านมานั้น แม้ “กุลิศ” จะกระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้นำเข้าอิสระ (บางกลุ่ม) แต่ก็เคลียร์ปัญหาจนผ่านไปได้ ส่วนนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้ารถหรูในอนาคต และข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ให้ลดอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้ารถยนต์ที่ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงประเด็นที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียนรถยนต์ของกลางที่ประมูลไปจากกรมศุลกากร ที่ปัจจุบันยังคาราคาซังอยู่ เหล่านี้คงต้องรอให้อธิบดีคนใหม่เข้ามา “รับไม้” จัดการต่อไป

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”