
กลุ่ม “เตชะอุบล” เป็นอีกกลุ่มทุนใหญ่ชื่อดังรุ่นเก๋าในกลุ่มอสังหาฯ ที่สามารถใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการสยายปีกธุรกิจ โดยการนำทัพของรุ่นพ่อ “สดาวุธ เตชะอุบล” จนวันนี้ปลุกปั้นเป็น “บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH)” ซึ่งส่งต่อให้รุ่นลูก “ทอมมี่ เตชะอุบล” เข้ามาบริหารในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของ CGH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ
CGH แตกหน่อออกมาได้ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS, บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC และ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 24.9%
- เปิดอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ได้ขึ้นทุกคุณวุฒิ “ปวช.ปริญญาตรี-เอก”
- คลังดึงออมสิน ช่วยแก้หนี้นอกระบบ พร้อมปล่อยกู้ 5 หมื่นบาทต่อราย
- ครม.เคาะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% เริ่มงวดแรกปี 2567
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เส้นทางเดินของ CGH มีการขยับปรับทัพเป็นสเต็ป ๆ โดยก้าวสำคัญก็ช่วงที่ บล.คันทรี่ กรุ๊ป ที่ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2557 แปรสภาพจากธุรกิจที่ทำ เฉพาะด้านหลักทรัพย์ ก็มาเป็นโฮลดิ้ง เพื่อให้เป็นบริษัทแม่ที่บริหารธุรกิจหลักทรัพย์และการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ
ถัดมาเมื่อปี 2559 CGH สร้างความประหลาดใจด้วยการตัดขายพอร์ต “ลูกค้ารายย่อย” ของธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ซึ่งถือเป็นบริษัทหลักในเครือออกเกือบทั้งหมดให้กับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) หรือ UOBKH เพื่อหวังลดต้นทุนการบริหารจัดการ เนื่องจากธุรกิจโบรกเกอร์มีการแข่งขันค่อนข้างสูงและมาร์จิ้นต่ำ ส่งผลให้สัดส่วนโครงสร้างรายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ขณะที่ “กำไรสุทธิ” ของ CGH ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกำไรที่ได้จากการลงทุนใน “ผาแดงฯ” ที่ได้อานิสงส์จากราคาโลหะสังกะสีโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อผลประกอบการของผาแดงฯ
“ปีนี้บริษัทคาดว่าจะรับรู้กำไรจากบริษัทย่อยมากกว่าปีก่อน เนื่องจากธุรกิจที่บริษัทได้ลงทุนมีผลประกอบการที่เติบโตดีมาก แต่กำไรสุทธิอาจไม่เติบโตแรงกว่าปีก่อน เพราะในปี 2559 บริษัทมีการบันทึกรายการพิเศษ จากการขายธุรกิจบางส่วน (พอร์ตรายย่อย) ออกไป ส่วนตัวธุรกิจหลักทรัพย์ ปี 2561 ก็คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรกว่า 100 ล้านบาท หลังเราปรับโครงสร้างปีที่แล้ว” นายทอมมี่กล่าว
ทั้งนี้แม้การปรับโครงสร้างธุรกิจจะเริ่มดูนิ่ง ๆ แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายของ “ซีอีโอหนุ่ม” จะไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เพราะต้องการนำพา CGH ขึ้นไปติดกลุ่ม SET50 ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งความใหญ่ของกิจการ CGH ก็จะมาจากการเน้นเติบโตจากการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ และซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มเติม
“ทอมมี่” เปิดสตอรี่ฮอตในวงการหุ้นว่า เบื้องต้นบริษัทมีการเจรจาซื้อกิจการ (M&A) สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 20 ดีล โดยสนใจจะเข้าลงทุนธุรกิจหลากหลาย มีทั้งพลังงาน, อสังหาริมทรัพย์ และ Hospitality (ธุรกิจด้านบริการ) เช่น ด้านการท่องเที่ยวหรือเครือโรงแรม เป็นต้น
พร้อมกับแง้มไส้ในของการเฟ้นหาดีลว่า CGH ยังสนใจเข้าลงทุนบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเข้ามาในพอร์ตอีกด้วย โดยกำลังติดตามดูบริษัทที่กำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง 2-3 รายอยู่ น่าจะเห็นดีลชัดเจนภายในปีนี้
“คาดว่าในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ จะเริ่มเห็นบริษัทขนาดกลาง-เล็กออกมาขายเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันปัญหาสภาพคล่องทางการเงินส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มมีปัญหา ซึ่งบางรายแม้ไม่ได้ออกมาขายธุรกิจอย่างเดียว แต่อาจมีการหาพันธมิตรเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเราในการเข้าลงทุน” ซีอีโอกล่าว
เรื่องของ “เงินลงทุน” ทอมมี่ระบุว่า CGH ยังมีศักยภาพในการลงทุนซื้อกิจการได้ถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันบริษัทไม่มีหนี้สิน และมีส่วนของทุนกว่า 5.9 พันล้านบาท ขณะที่นโยบายการลงทุนจะเน้นลงทุนในระยะยาวประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไม่น้อยกว่า 15% แต่หากบริษัทที่เข้าไปลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย ก็พร้อมที่จะขายกิจการทันทีเพื่อทำกำไร
วันนี้ CGH มีมูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ราว 6.2 พันล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2559 ที่มีขนาดมาร์เก็ตแคปสูงเกือบ 7 พันล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นล่าสุด (16 ส.ค. 2560) อยู่ที่ 1.43 บาท
เป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมือซีอีโอหนุ่มไฟแรง บนสตอรี่ ที่สานฝันติดดาวกลุ่ม SET50 นี้ว่ากันยาว ๆ ไป 5 ปีข้างหน้า