
การทำให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับสากลในราคาที่พอจ่ายได้ เป็นสิ่งที่ประชาชนหลาย ๆ คนน่าจะต้องการ และนี่ก็คือหนึ่งจุดประสงค์ของการสร้าง อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ อาคารรักษาพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 29 ชั้น ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีขนาดกว่า 224,752.25 ตารางเมตร และถือเป็นอาคารโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
อาคารนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ใช้ชื่ออาคารว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ซึ่งมีความหมายว่าอนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์รวบรวมบริการที่กระจายไปยังอาคารต่าง ๆ มาไว้ที่อาคารเดียวกันทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปหลาย ๆ อาคารเหมือนในอดีต
ปัจจุบันอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ได้เปิดบริการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไปแล้ว 6 ศูนย์ จากทั้งหมด 21 ศูนย์ ได้แก่ 1.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร 2.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร 3.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต 4.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคลมชักครบวงจร 5.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ และ 6.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด
อาคารนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,250 เตียง และเมื่อเปิดอาคารอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,400 เตียง โดยมีส่วนสนับสนุนการให้บริการผู้ป่วยใน (In Patient) แบบครบวงจร (One Stop Service) ที่เบ็ดเสร็จจบในอาคาร
พรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลเสริมว่า ระบบขนส่งผู้ป่วยไม่ได้ส่งผู้ป่วยไปรอคอยเพื่อเตรียมการรักษาเหมือนอดีต เพราะปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้สามารถคาดการณ์บอกเวลาได้แม่นยำยิ่งขึ้น แม้ไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีที่อย่างน้อยช่วยให้ญาติผู้ป่วยทราบว่าการเดินทางไปแต่ละจุดใช้เวลาเท่าใด
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์บอกอีกว่า คนที่เข้ามาในอาคารแห่งนี้อาจจะรู้สึกว่ากำลังก้าวเข้ามาในโรงพยาบาลเอกชนหรือเปล่า ก็อยากให้มั่นใจว่า จุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลภายใต้พระนามจุฬาลงกรณ์ ภายใต้สภากาชาดไทย อาคารหลังนี้สร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ประชาชนทุกชนชั้นโรงพยาบาล ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ 30 บาท หรือสิทธิ์ประกันสังคม