
คอลัมน์ ตามรอยฟ้า
จากปัญหาซ้ำซาก ภาวะเดิม ๆ ของ จ.กาฬสินธุ์ ที่ต้องประสบกับน้ำหลากในฤดูฝน จนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ทั้งยังขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง จึงส่งผลให้การทำเกษตรกรรมประสบภาวะปัญหาต่าง ๆ จนทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในมิติต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบของการทำการเกษตร การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้าไปทำงานในเมืองหลวง
จนที่สุด จึงเกิดแนวคิดที่จะร่วมกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการนำแนวคิด “ฝายมีชีวิต” เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกองคาพยพในพื้นที่ มีการจัดอบรมครูฝาย เพื่อเป็นแกนนำในการต่อยอดและขยายผล
ทั้งยังน้อมนำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จนนำไปสู่การสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน อันเป็นแบบอย่างในชุมชนของตนเอง
“พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย” เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ผู้ริเริ่มโครงการอบรมครูฝายมีชีวิต เล่าให้ฟังว่า แนวคิดการสร้างฝายมีชีวิต เกิดจากปัญหาใหญ่ ๆ 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำแล้ง ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และยากเกินที่กว่าจะจัดการได้
“จากปัญหาตรงนี้ อาตมาพยายามเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน จนในที่สุดจึงคิดค้นแนวทางการสร้างฝายด้วยชุมชน ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้มีมาหลายสิบปี หรือหลายร้อยปี แต่ไม่มีการต่อยอด อาตมาจึงขอยกเครดิต ให้กับ จ.นครศรีธรรมราช ที่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะเขามีการทำฝายด้วยวัสดุธรรมชาติ ทั้งยังมีการต่อยอด มีโครงสร้าง หลักสูตร และกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้เองที่เรียกว่าฝายมีชีวิต”
หลักการสร้างฝายมีชีวิตมีอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ คือตัวฝายเอง และกระบวนการสร้างฝาย โดยตัวฝายมีวัสดุเพียง 4 อย่าง คือ ไม้ไผ่, เชือก, กระสอบ และทราย เท่านั้น ส่วนกระบวนการสร้างฝายมี 4 เรื่องเช่นกัน คือตัวฝาย ที่มีหูช้าง ซึ่งเป็นตัวที่กันการพังข้างตลิ่ง เหนียวปิ้ง คือตัวที่กันหูช้างพังอีกทีหนึ่ง และบันไดนิเวศหน้า-หลัง
“บันไดนิเวศหน้าจะทำหน้าที่ปั่นตะกอนทราย ซึ่งฝายทั่วโลกมีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะตะกอนทรายจะเข้าไปดัก หรือไปขังอยู่ทางด้านเหนือฝาย ทำให้เสียงบประมาณในการขุดลอก ส่วนบันไดนิเวศหลัง จะเป็นการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ โดยเฉพาะการวางไข่ของปลาต่าง ๆ ที่สามารถขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำได้ ซึ่งฝายทั่วไปจะทำให้ระบบนิเวศหน้าฝาย และหลังฝายตัดออกจากกันโดยสิ้นเชิง”
“ส่วนหัวใจสำคัญของการสร้างฝายมีชีวิตไม่ใช่อยู่ที่วัสดุ 4 อย่าง และองค์ประกอบของฝายใน 4 เรื่องนี้ แต่กลับเป็นไม้น้ำที่ปลูกด้านข้าง ไม่ว่าจะเป็นต้นไทร, ต้นไคร้นุ่น, ต้นมะเดื่อ และอื่น ๆ ที่เป็นต้นไม้พื้นถิ่น ซึ่งไม้เหล่านี้จะเป็นฝายมีชีวิตต่อไป เพราะไม้ไผ่และกระสอบทรายจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงที่ทำให้ตัวฝายจริงที่เป็นรากไม้ต่าง ๆ เข้าไปยึดเกาะจนกลายเป็นฝายมีชีวิต”
“พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย” อธิบายเพิ่มเติมว่า หัวใจที่ 2 ของการสร้างฝายมีชีวิตคือ การระเบิดจากภายใน ด้วยการสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือของชุมชน และการทำด้วยข้อมูล ที่ต้องเข้าใจว่าระบบธรรมชาติของต้นไม้ ธรรมชาติของสายน้ำ หรือแม้กระทั่งตัววัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และที่สำคัญต้องอย่าคิดเยอะ และอย่าคิดยาก ต้องทำบนพื้นฐานแห่งความจริง และทำจากเล็กไปใหญ่ ทำจากน้อยไปมาก
“โครงการ 90 ฝาย ถวายในหลวง ถือเป็นโครงการนำร่อง และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยที่ผ่านมามีการอบรมครูฝายไปแล้ว 10 รุ่น จำนวนกว่า 572 คน มีการสร้างฝายมีชีวิตไปแล้ว 69 ฝาย ซึ่งคาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2560 จะแล้วเสร็จทั้ง 90 ฝาย และมีแผนจะสร้างฝายมีชีวิตให้ครบ 900 ฝาย ครอบคลุมทั้ง 19 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ภายในปี 2561 และจะใช้วัดป่านาคำเป็นศูนย์ฝึกอบรมศาสตร์พระราชาอีกด้วย”
“การทำงานให้สามารถขยายผลครอบคลุมทั้งจังหวัดได้ เกิดจากการทำงานร่วมกันในเชิงพื้นที่ โดยอาศัยภาคี 4 ส่วน คือ ภาครัฐ, ภาคประชาชน, ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการขับเคลื่อน ตลอดจนครูฝายมีชีวิต ที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติสู่การทำจริงในพื้นที่ จนทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจได้”
ขณะที่ “อิสระ ขันธ์ปรึกษา” นายช่างโยธาชำนาญงาน เทศบาลแซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ และครูฝายมีชีวิตรุ่นที่ 4 กล่าวเสริมว่า เพราะปัญหาเรื่องน้ำที่ทำให้การทำเกษตรต่าง ๆ ไม่ได้ผล โดยช่วงฤดูฝนน้ำจะไหลเร็ว ไม่มีการชะลอน้ำ กั้นน้ำเก็บไว้ ส่วนในฤดูแล้งจะประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก จึงทำให้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่จึงปรับเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย
“เพราะถ้าเขาทำการเกษตรไม่ได้ ก็จะพากันเดินทางเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือที่อื่น ๆ ฉะนั้นปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเมื่อได้เริ่มทำฝายมีชีวิต ผลที่ออกมาคือ พวกเขาสามารถใช้ได้จริง ทั้งยังช่วยชะลอการไหลของน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ทางการเกษตร ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้เพาะปลูกทั้งในช่วงฤดูฝน ฤดูแล้ง เกิดการพึ่งพาอาศัยกันของคน พืช และสัตว์ ทำให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์”
“เมื่อมีน้ำเพียงพอ เขาก็สามารถทำการเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ซึ่งคิดว่าต่อไปจะมีการทำเกษตรพอเพียงผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา ปลูกพืชผักผสมผสาน ปลูกกินทุกอย่างที่กินได้ และกินทุกอย่างที่ปลูก ซึ่งจะทำให้มีอาหารไว้กินตลอดทั้งปี และถ้าเหลือก็นำไปขาย คนก็ไม่ต้องเดินทางออกไปอยู่ในเมืองหลวง”
“จากการร่วมกันทำฝายมีชีวิตของตำบลแซงบาดาลที่ผ่านมา ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่มาร่วมกันสร้างฝาย เกิดความรัก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวชุมชน”
จนนับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกัน จนทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม