“หนี้” หอกข้างแคร่เศรษฐกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

 

เช้านี้ (12 กันยายน) ระหว่างนั่งเขียนต้นฉบับ อีกด้านหนึ่งก็เกาะติดข่าวอีเวนต์ใหญ่ระดับชาติ “130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น”

ในโอกาสที่ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) พร้อมกับนักลงทุนญี่ปุ่นอีกกว่า 400 บริษัท เดินทางมาเยือนเมืองไทยในช่วงระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560

โดยไฮไลต์งานจะอยู่ที่การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี (11 กันยายน) และวันนี้มีงาน Symposium on Thailand 4.0 fowards Connected Industries และลงนามและแลกเปลี่ยนความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 7 ฉบับ

และวันสุดท้าย ทัพนักธุรกิจญี่ปุ่นจะเดินทางลงพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี และระยอง

นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของรัฐบาลในการจะปลุกเศรษฐกิจการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ อย่างน้อยญี่ปุ่นก็เป็นต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน

แต่ตอนนี้คงยังเร็วไปที่จะสรุปว่า ทัพนักลงทุนจากญี่ปุ่นจะขนเงินเยนมาลงทุนในอีอีซีมากน้อยเพียงใด แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งและอยากเห็นประเทศเจริญโชติช่วงชัชวาล ก็สนับสนุนและเป็นกำลังใจ

แต่เมื่อหันกลับไปดูปฏิทิน ใจหายครับ…นี่ก็กลางเดือนกันยายนแล้ว เท่ากับว่าเหลืออีกเพียง 3 เดือนก็จะสิ้นปีแล้ว แต่ไปไหนมาไหน ใคร ๆก็จะถามกลับมาทุกครั้งว่า “เศรษฐกิจเป็นอย่างไร ?” ซึ่งถือเป็นคำถามยอดนิยม ตั้งแต่ต้นปีมาเลยก็ว่าได้

อย่างที่เป็นที่รับรู้กันว่าล่าสุด หลังผ่านพ้นไตรมาส 2 ไป ทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ต่างประสานเสียงว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว และมีการปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มจากเดิม

แต่ในมุมของนักธุรกิจ คนทำมาค้าขาย จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้สึกว่า เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเขาสัมผัสได้ว่า การทำมาค้าขายยังฝืดเคือง ประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่าย

ขณะที่ประชาชนทั้งเกษตรกร รากหญ้า มนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่ก็ยังตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง นอกจากเงินในกระเป๋าจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ตรงกันข้ามกลับแฟบลงไปอีก เพราะภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจดี-ไม่ดี วัดได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ หลายคนสงสัยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโปรยเงินเข้าไปในระบบอย่างมากมายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เงินเหล่านั้นไปไหนหมด ทำไมไม่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาบ้าง ไม่เห็นจะช่วยให้กระตุ้นการบริโภคได้เลย

คำตอบที่ได้ คือ “นำไปใช้หนี้”

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ยังกระจุกตัว โดยประชาชนกลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอียังมีความยากลำบาก ปีที่แล้วมีปัญหาภัยแล้ง ภาคเกษตรได้รับผลกระทบมาก แต่อีกตัวหนึ่งที่ยังเห็นไม่ชัด คือ การส่งออกดีขึ้น แต่ก็ยังไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ค่าล่วงเวลา (โอที) ก็ยังไม่มี อำนาจซื้อจึงยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงเป็นตัวฉุด

ผู้ว่าการ ธปท.ยังย้ำด้วยว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น แม้ใกล้เกษียณ หนี้ก็ยังไม่ลด”

ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้ความสามารถในการจับจ่ายจะลดลง ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาหลายเรื่องทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

จึงไม่แปลกใจที่ ธปท.จะออกมาเตือนปัญหาหนี้ครัวเรือน และมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาสกัดการก่อหนี้ของคนรุ่นใหม่เป็นระยะ ๆ

นี่คือโจทย์ใหญ่อีกด้านหนึ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข

แต่กว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้…คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย