กวิน ว่องกุศลกิจ ปธ. YEC กรุงเทพฯ ลุย 4 โปรเจ็กต์ ปลุกพลัง Young blood หอการค้า-

คอลัมน์ New Gen 4.0

แม้เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC กรุงเทพฯ รุ่นที่ 2 ไปหมาด ๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 แต่ก็ฉายแววลูกไม้หล่นใกล้ต้น สำหรับ “กวิน ว่องกุศลกิจ” วัย 35 ปี ทายาทคนโตของ “อิสระ ว่องกุศลกิจ” เจ้าสัวหมื่นล้านแห่งค่ายมิตรผล และประธานอาวุโสคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

แต่ด้วยความที่เป็นลูกหลานหอการค้ามานาน ประกอบกับถูกชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิก YEC กรุงเทพฯ เมื่อ 3 ปีก่อน จึงทำให้เกิดความคุ้นเคย

ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจอยู่ 3 อย่าง ทั้งการลงหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหาร ธุรกิจออฟฟิศให้เช่าชื่อว่าโกลว์ฟิช (Glowfish) ที่เจ้าตัวบอกว่า เชียร์มากที่สุด ลงทุนมากที่สุด และทุ่มเทเวลาให้มากที่สุด ซึ่งกำลังจะเปิดสาขา 3 ที่ย่านสาทรในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งยังดูแลธุรกิจบูติคโฮเต็ล โรงแรมแอดลิบ (Ad lib) ที่สุขุมวิท โดยเตรียมเปิดเฟส 2 ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้

“กวิน” บอกว่า YEC นั้นอยู่ภายใต้หอการค้าไทย ปัจจุบันวายอีซีกรุงเทพฯ มีสมาชิกประมาณ 200 คนที่มีทั้งทายาทหอการค้า และพยายามหานิวบลัดใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้ต้องการให้มีสมาชิกมากหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ต้องการคนที่ผ่านคอร์สที่จัดขึ้น ซึ่งคอร์สนี้จะถูกดีไซน์ให้สมาชิกเข้าไปมีส่วนร่วมกับส่วนต่าง ๆ ของ YEC สมาคมหอการค้าต่างประเทศ รวมถึงรัฐบาลที่เน้น 2 เรื่อง คือ การท่องเที่ยว และอินโนเวชั่น (นวัตกรรม) โดยจะรับสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ผ่านคอร์สประมาณ 100 คน โดยใช้ชื่อว่า YEC BKK แต่ในปีนี้จะเปลี่ยนเป็น YEC เนื่องจากต้องการรับสมัครจากต่างจังหวัดด้วย

โดยในปี 2560 มีโปรเจ็กต์หลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดคอร์สสำหรับสมาชิกใหม่ปีละ 1 ครั้ง จัดขึ้นในเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นการอธิบายว่า หอการค้าทำอะไร วายอีซีทำอะไร เราจะเข้าไปช่วยหอการค้าได้อย่างไร ด้วยการให้ทำจริง เช่น โครงการ Pitching โครงการคูปองนวัตกรรม ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกิจกรรมคอนเน็กต์กับในประเทศ-ต่างประเทศ และสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกหอการค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในคอร์สจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งปีที่ผ่านมาเมื่อรุ่น 1 จบไป คนที่อยากทำเรื่องหนึ่งก็จะขอเข้ามาประชุมในเรื่องนั้น ทำให้บางกลุ่มใหญ่ขึ้น ขณะที่บางกลุ่มเล็กลงจนไม่มีคน เนื่องจากโจทย์อาจจะไม่ดี ในปีนี้เราจึงต้องตั้งโจทย์ให้ดีขึ้น

โดยกลุ่มที่สมาชิกสนใจมากมี 2-3 กลุ่ม เช่น กลุ่มที่นำสมาชิกไปดูแลสมาคมการค้าต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกหอการค้า ซึ่งมีกว่า 100 กว่าสมาคม ขณะนี้เข้าไปคุยแล้วกว่า 20-30 สมาคม ด้วยการเข้าไปรับฟังความต้องการของสมาคมนั้น ๆ แล้วกลับมาตั้งคำถามว่าเราจะตอบโจทย์นั้นได้อย่างไร ซึ่งเราจะตอบเฉพาะโจทย์ที่เป็นไปในแนวทางกับพันธกิจ (Mission) 5 หัวข้อของหอการค้า โดยสมาชิกวายอีซีเข้าไปเขียนกฎกติกาให้ หรือกลุ่มคูปองนวัตกรรม ที่เป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอีในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสังคม

2.การจัดอีเวนต์ให้สมาชิกปีละ 4 ครั้ง หลังจากจบคอร์ส 4 เดือนแล้ว และต่อไปอาจจะเชิญวายอีซีต่างจังหวัดด้วย เป็นปาร์ตี้บ้าง การศึกษาบ้าง เพื่อให้รู้จักกันและเชื่อมโยงกัน 3.การรับข่าวสารจากหอการค้าและกระจายข่าว เพื่อเชื่อมโยงหอการค้าให้มากกว่านี้ โดยทุก ๆ วันหอการค้าจะส่งข่าวเข้ามา แม้หอการค้าจะมีหน่วยงานที่ดึงคนที่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่แล้ว และทำได้ดีด้วย แต่ YEC จะเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยพีอาร์เพื่อกระจายข่าวสารไปสู่ชุมชนของเรา โดยวายอีซีนั้นจะรวดเร็วกว่า เพราะมีการติดต่อผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งจะมีไลน์กลุ่มหนึ่งที่มีเฉพาะประธานวายอีซีของแต่ละจังหวัดที่จะช่วยกระจายข่าว

ส่วนภารกิจที่ 4 คือ การคอนเน็กต์กับต่างประเทศ ซึ่งประธานคณะกรรมการพัฒนา YEC บอกว่า กรุงเทพฯเป็นเซ็นเตอร์ที่สุด ต้องพยายามรวบรวมคน และครีเอตขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ โดยต่างประเทศนั้นก็มียูสลีค (Youth League) บางประเทศก้าวหน้ากว่าไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น บางประเทศเพิ่งเริ่มเหมือนเรา และบางประเทศเด็กกว่าเรา

ล่าสุดจีนเชิญ 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศในเอเชียที่ได้รับเชิญ โดยเชิญเฉพาะ YEC เพราะต้องการนักธุรกิจจริง ๆ อายุไม่เกิน 45 ปีเพียง 10 คน และให้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นว่าคนที่เข้ามาทำงานจริง ๆ ให้เวลาตลอดก็จะอยู่ในเน็ตเวิร์กโดยปริยาย และการที่มีสมาชิกไม่มากนัก จึงทำให้รู้ว่าใครทำธุรกิจอะไร จึงทำให้สามารถประสานกันได้ง่าย

“วายอีซีกรุงเทพฯจะมีความแตกต่างกับวายอีซีต่างจังหวัดพอสมควร เพราะในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นทายาทธุรกิจที่เป็นร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสที่เค้าจะเรียนรู้ได้เร็วมาก และเชื่อมกับต่างประเทศได้เร็วขึ้น ฉะนั้นการไปลิงก์กับต่างประเทศ วายอีซีกรุงเทพฯเลยมีโอกาสมากกว่า แต่ธุรกิจใหญ่ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เพราะว่าใหญ่มาก เก่งมากก็จะไม่ค่อยมีเวลาให้กับส่วนรวมเท่าไหร่ เราจึงไม่ได้เอาแต่ธุรกิจใหญ่ หรือบางทีธุรกิจเล็กอาจจะอินโนเวทีฟกว่าก็ได้ เพราะธุรกิจที่เล็กในวันนี้มันก็เป็นธุรกิจใหญ่ได้ในอนาคต”

“กวิน” ย้ำว่า คนที่จะมาสมัครเป็นวายอีซี จะต้องมีทั้งความสามารถ อาวุโสเพียงพอ และที่สำคัญมีความต้องการที่จะให้พอ ๆ กับที่จะได้ มาทำด้วยใจ ไม่มีกำไร เพราะเมื่อเข้ามาก็ต้องเริ่มทำงานด้วยกันกว่า 3 เดือน ต้องสละเวลาช่วยกันคิดว่าจะดีไซน์กรอบการทำงานอย่างไร และจะนำไปเสนอหอการค้าอย่างไร หรือเสนอรัฐบาลให้ช่วยซัพพอร์ตอย่างไร เมื่อเราทำงานด้วยกันก็จะทำให้เกิดทรัสต์ (Trust) และจะทำให้รู้ว่าใครใช้ได้ ใครใช้ไม่ได้

ขณะเดียวกันที่นี่คือ การรวมตัวของอองเทอเพรอนัวร์ (Entrepreneur) ถ้าต้องการเรียนรู้ นี่คือโรงเรียนที่ดีที่สุดที่ได้เรียนรู้จากกันและกัน และเกิดคอนเน็กชั่น

“ในอนาคตผมก็อยากเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นองค์กรที่จะช่วยในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” กวินกล่าวทิ้งท้าย