ธุรกิจยุคดิจิทัล ภาษีไม่เข้าประเทศ-

ในโลกธุรกิจยุคดั้งเดิมการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศเพื่อเข้ามาช่วยเป็นแรงหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งสร้างรายได้ในแง่ภาษีให้ประเทศ แต่ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ยังเป็นคำถามตัวโตว่า รายได้ในแง่ภาษีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

นายโรเบิร์ต เคปป์ ผู้อำนวยการดิ อีโคโนมิสต์ คอร์เปอเรต เน็ตเวิร์ก สาขาฮ่องกง กล่าวในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “Taxing Times : ความสำคัญของภาษีต่อเศรษฐกิจยุคดิจิทัล การลงทุนองค์กร และภูมิศาตร์การเมือง” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันด้านการค้าการลงทุนเกิดขึ้นอย่างดุเดือดทั่วโลก ประเด็นเรื่องภาษีถือเป็นความท้าทายและข้อถกเถียงถึงการกำกับดูแลอย่างเป็นสากล เพราะปัญหาหนึ่งของระบบภาษีในยุคดิจิทัล จากการจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้การจ่ายเงินโอนเงินไปยังอีกประเทศทำได้โดยง่าย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จึงอาศัยช่องโหว่ดังกล่าวจัดตั้งสำนักงานในประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์ภาษีดีกว่า ไม่ตั้งสำนักงานถาวรในประเทศที่ทำธุรกิจ ทำให้ประเทศที่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้รับภาษีอย่างที่ควรจะเป็น

ยกตัวอย่างที่ยุโรป ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่จะมีภาษีนิติบุคคล 25% แต่มีเพียงไอร์แลนด์ที่เก็บภาษีเพียง 12.5% ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ แห่ตั้งสำนักงานกันที่ไอร์แลนด์ เพื่อที่จะจ่ายภาษีได้ถูกลง ประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้เถียงในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังไม่มีทางออกชัดเจน แต่มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่า แต่ละประเทศควรมีการกำหนดให้บริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจต้องจัดตั้งสำนักงานถาวรในประเทศนั้นๆ เพื่อให้มีการจ่ายภาษีในประเทศอย่างถูกต้อง และสร้างความยุติธรรมให้แก่ระบบการค้ายุคดิจิทัล

นายเคปป์ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนหรือลงทุนของบริษัทต่างชาติ ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ปัญหาการจัดเก็บภาษี จากกรณีบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาเปิดให้บริการในไทย สำนักงานภูมิภาคส่วนใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการชำระเงินตรงไปที่สิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ภาษีจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว

ด้าน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจยุคดิจิทัล และได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะแล้ว ตนคิดว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการจะดึงนักลงทุนมาลงทุนได้ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ต้องคำนึงผลกระทบหลายมิติ ไม่ใช่การเก็บภาษีอย่างเดียว เชื่อว่าในปี 2561 จะเห็นกฎหมายกำกับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการพิจารณาของรัฐบาลไทยควรทำเป็นแพ็กเกจ ทำงานอย่างบูรณาการระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงดิจิทัลฯ คืออาจต้องคุยกันว่าจะจัดเก็บอย่างไร และเหตุผลที่ยอมให้บริษัทไอทีต่างชาติเข้ามาในประเทศแบบไม่ใช่สถานประกอบการถาวรอย่างเช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งก็มีเอ็มดีประจำประเทศไทย และคนไทยก็ซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กเยอะมาก แต่เป็นเงินที่โอนตรงไปยังสำนักงานสิงคโปร์

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ พาร์ตเนอร์และประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด ให้ความเห็นว่า รัฐต้องหาทางปิดช่องโหว่ทางภาษีโลกออนไลน์ เพราะปัจจุบันเวลาจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ บริษัทเหล่านั้นไม่ได้เสียภาษีในไทย ปัญหาคือเรื่องนี้เป็นภาษีระหว่างประเทศ ดังนั้น หากต้องการแก้กฎหมายก็ต้องดูว่าในภูมิภาคแก้กฎหมายแบบไหน และต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลกที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทำกัน และการปฏิรูปภาษีกับการสนับสนุนธุรกิจยุคดิจิทัลต้องทำทั้งระบบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ