วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เร่งวางโครงสร้าง “ท่องเที่ยว” สู่ความยั่งยืน-

เข้ามานั่งบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่เรียบร้อยแล้วสำหรับ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” หนึ่งในตำแหน่งสำคัญในการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ว่ากันว่า สำหรับ “วีระศักดิ์” แล้วนับเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการริเริ่มผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับต่าง ๆ ของประเทศเมื่อครั้งที่เข้ามาบริหารกระทรวงแห่งนี้ในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อ 9 ปีก่อน คือในสมัยรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” และรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ในปี 2551

และด้วยความเป็นนักวิชาการ นักคิด นักยุทธศาสตร์ นักกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ น่าจะทำให้การกลับมาในครั้งนี้ของ “วีระศักดิ์” มีโอกาสได้แสดงผลงานพิสูจน์การบริหารอีกครั้ง

จัดโครงสร้าง-ลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ “วีระศักดิ์” ได้แถลงถึงแนวทางการบริหารงานรวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่เข้ามานั่งบริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาวันแรก (1 ธันวาคม 2560) ว่า ในส่วนของนโยบายใหญ่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังรอกรอบและนโยบายหลักจากนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการมอบหมายจากนายกฯ มาส่งมอบนโยบายอีกครั้ง

แต่สิ่งที่สามารถกำหนดนโยบายได้เองนั้นมี 2 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วย 1.การมองในเชิงโครงสร้างใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีโอกาสได้ทำน้อยมาก รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ไม่มีพรรคจึงน่าจะทำได้ดีที่สุด เพราะความร่วมมือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะทำได้คล่องตัวกว่า โดยโครงสร้างใหญ่ในเวลานี้เป็นเรื่องที่ต้องมองว่าจะทำอย่างไรที่จะให้งานด้านการท่องเที่ยวที่สร้างจีดีพีให้ประเทศได้ถึง 20% อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกนี้สามารถกระจายเข้าไปยังชุมชน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างแท้จริง ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

เพราะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีซัพพลายเชนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การขนส่ง สินค้าที่ระลึก โรงแรม ที่พัก กิจกรรมต่าง ๆ ฯลฯ

และ 2.ให้ความสำคัญในเรื่องการซ่อมแซม บำรุงรักษา และช่วยวางระบบต่าง ๆ เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เสื่อมโทรม ในส่วนนี้ขอเรียกว่า “คลินิกท่องเที่ยว” หรือ tourism clinic ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ได้ไปร่วมกันทำโดยไม่แบ่งแยกรั้วกรม กอง สำนัก ระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น และกระจายไปอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่

ตั้ง “คลินิกท่องเที่ยว” เป็นพี่เลี้ยงชุมชน

โดย “คลินิกท่องเที่ยว” นี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “พี่เลี้ยง” ในแต่ละชุมชนว่าในแต่ละพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านไหน อย่างไร เช่น ถ้าในพื้นที่อยากจะซ่อมแซม บำรุงรักษา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว โดยพี่เลี้ยงที่อยู่ในคลินิกท่องเที่ยวต้องลงไปช่วยประสานงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งคนที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงนั้นก็จะไม่ใช่เพียงแค่คนของกระทรวง หรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ยังรวมถึงคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น ตัวแทนสมาคมท่องเที่ยว ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนของผู้ประกอบการ ฯลฯ เป็นต้น

“ผลงานของผมใน 1 ปีข้างหน้านี้จะเน้นไปในเรื่องของหัวเข่าเปื้อนดิน มือเปื้อนดิน ทำงานอยู่ในสนามมากกว่าที่จะยืนอยู่หน้าโพเดียมหรืออยู่ในงานสังคม หรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ เพราะการซ่อมแซม ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างจริงจัง”

เวลา 1 ปีที่เหลือคงไม่พอแต่ขอได้เริ่มทำ

“วีระศักดิ์” ยังบอกด้วยว่า ระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาลชุดนี้อาจยังทำไม่สำเร็จทั้งหมด แต่มองว่าทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นนี้ต้องเริ่มทำ เพราะที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีความแข็งแรงในการทำการตลาด ดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนถึงกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขณะที่คนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างของอุตสาหกรรมยังขาดเรื่องของการซ่อมแซม บำรุงรักษา ฟื้นฟู รวมถึงการจัดระบบต่าง ๆ ยังไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะ น้ำเสีย ฯลฯ รวมถึงระบบการจราจร การให้ความสำคัญนักท่องเที่ยวทุกคน (รวมผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย) หรือแม้กระทั่งการเข้าไปช่วยจัดวางปฏิทินท่องเที่ยวและผังเมืองที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวและพักค้างคืนต่อในพื้นที่เมืองรอง เพื่อที่จะช่วยทำให้เมืองหลักมีจังหวะที่จะซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเองได้ด้วย

“เมื่อ 9 ปีก่อนตอนที่ผมเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผมบอกว่าการท่องเที่ยวของไทยจะต้องสะอาด สะดวก ปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ ผมกลับมาคราวนี้ขอเพิ่มเติมอีกคำหนึ่งคือ สะอาด สะดวก ปลอดภัย มีเอกลักษณ์ และยั่งยืน โดยผมจะเน้นเรื่องความยั่งยืนมาเป็นตัวสำคัญ เพราะคำว่ายั่งยืนนั้นหมายถึงคุณภาพที่ดี และหากการท่องเที่ยวมีความยั่งยืนก็จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้”

หวังก้าวสู่ยุคมั่นคง แข็งแรง ยั่งยืน

“วีระศักดิ์” ยังย้ำในตอนท้ายด้วยว่า เขาจะไม่เข้ามาแก้ไขหรือรื้อแผนงานเก่าที่ทำดีอยู่แล้วแน่นอน และจะทำสิ่งที่กำลังเดินไปได้ให้ดีขึ้น ไม่สะดุด จะพยายามเชื่อมรอยต่อต่าง ๆ ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า และจะใช้โอกาสที่ได้กลับมาทำงานอีกครั้งทำเรื่องโครงสร้างให้เสร็จ อะไรที่ผู้ประกอบการทำงานแล้วเสียเวลาก็จะปรับแก้กฎให้สมเหตุสมผลขึ้น อันไหนที่ยังเป็นอุปสรรคไม่สะดวกก็จะทำให้สะดวกขึ้น อันไหนที่ต้องการเรื่องความปลอดภัยอาจจะไม่สะดวกบ้างก็อย่าไปฝืน


และเชื่อว่าหากกรอบโครงสร้างและแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์ก็จะทำให้คนที่มารับช่วงทำงานใหม่จะได้สามารถเดินงานต่อได้ทันที และมีความต่อเนื่องของนโยบายการทำงานที่ชัดเจน นั่นหมายถึงว่า หากโครงสร้างใหญ่ชัดเจน ทุกอย่างจะมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน… ไม่ใช่เปลี่ยนการทำงานทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำ….