Ease Of Doing Business สำคัญ (กับประเทศไทย) แค่ไหน-

เลียบรั้งเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ถือเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อธนาคารโลกประกาศอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจปี 2561 (Ease Of Doing Business 2018 : EDB) โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับให้สูงขึ้นถึง 20 อันดับ จากอันดับที่ 46 เมื่อครั้งที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดของการจัดอันดับครั้งนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากขั้นตอนในการเริ่มต้นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนและการขออนุญาตในขั้นตอนต่าง ๆ ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าอันดับ EDB ของไทยที่ดีขึ้นดังกล่าว นอกจากส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน

หากย้อนกลับไปมองถึงอันดับ EDB ของไทยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2548 พบว่าไทยติดอันดับ Top 20 มาโดยตลอดในช่วงแรกที่มีการจัดอันดับ โดยเคยมีอันดับดีที่สุดในปี 2553 ซึ่งในปีนั้นไทยขึ้นไปอยู่ถึงอันดับที่ 12 ของโลก ก่อนที่อันดับของไทยจะค่อย ๆ ถูกปรับลดลงเรื่อย ๆ จนหล่นมาอยู่ที่อันดับ 49 ในปี 2559 ซึ่งถือเป็นอันดับแย่ที่สุดของไทยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับ EDB มา

โดยการพิจารณาการลงทุนภาคเอกชนของไทยในช่วงตั้งแต่ที่มีการจัดอันดับ EDB จะเห็นว่า ในช่วงปี 2548-2557 ที่อันดับ EDB ของไทยติดอยู่ใน TOP 20 การลงทุนภาคเอกชนของไทยขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้มีบางปีที่อาจลดลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานั้น แต่โดยภาพรวมในช่วงเวลาดังกล่าว การลงทุนภาคเอกชนของไทยขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปี โดยเฉพาะในปี 2553 ที่อันดับ EDB ของไทยขึ้นไปสูงสุดที่อันดับ 12 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึง 16.7% ขณะที่ในปี 2558-2559 อันดับ EDB ของไทยตกต่ำลงอย่างชัดเจนจนหลุด TOP 20 การลงทุนภาคเอกชนของไทยก็ซบเซาลงอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยหดตัว 2.2% และขยายตัว 0.4% ตามลำดับ

ขณะที่หากพิจารณาในมิติด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะเห็นว่าในช่วงปี 2548-2557 มีเม็ดเงิน FDI เข้ามาลงทุนในไทยเฉลี่ย 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในปี 2553 ที่อันดับ EDB ของไทยขึ้นไปสูงสุดที่อันดับ 12 มีเม็ดเงิน FDI เข้ามาลงทุนในไทยสูงแตะ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2558-2559 ที่อันดับ EDB ของไทยตกต่ำลง เม็ดเงิน FDI ที่เข้ามาลงทุนในไทยเริ่มลดลงโดยในปี 2559 อันดับ EDB ของไทยตกลงไปอยู่ที่อันดับ 49 เม็ดเงิน FDI ที่เข้ามาลงทุนในไทยลดลงเหลือเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การลงทุนภาคเอกชนและเม็ดเงินFDI ที่เข้ามาลงทุนในไทยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ขณะที่การจัดอันดับ EDB เพิ่งเริ่มต้นในปี 2548 ทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะหาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างอันดับ EDB กับแนวโน้มการลงทุนในประเทศได้อย่างชัดเจน แต่จากการพิจารณาในเบื้องต้นพบว่า อันดับ EBD ของไทยน่าจะมีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนและ FDI ในระดับหนึ่ง ซึ่งการที่อันดับ EDB ของไทยในปี 2561 ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดว่าจะเป็นสัญญาณดีที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการลงทุนในปีหน้าว่าจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งหลังจากซบเซามาหลายปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างภาคการผลิตครั้งใหญ่เพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (value-based industry) ซึ่งต้องการการลงทุนขนานใหญ่

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM Bank