คริสเทล โกลสเทน ครูดำน้ำเกาะช้าง เบลเยียมหัวใจไทย-

จากอาชีพผู้จัดการห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเบลเยียม เดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทย ชื่นชอบการดำน้ำตามที่ต่าง ๆ จนมาพบเกาะช้าง จังหวัดตราด เกิดความหลงใหลในธรรมชาติ ความเรียบง่ายของท้องถิ่น รวมถึงอัธยาศัยใจคอของคนพื้นที่จนถอนตัวไม่ขึ้น ในที่สุดปี 2545 หญิงสาวชาวเบลเยียม “คริสเทล โกลสเทน” (Kristel Golsteyn) ได้ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่เกาะช้าง แต่งงานกับสามีคนไทยที่มีภูมิลำเนาที่บ้านบางเบ้า ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยสามีนั้นเป็นเจ้าของกิจการ “บางเบ้าสปีดโบ๊ท” และประธานชมรมเรือดำน้ำดูปะการังหมู่บ้านบางเบ้า

ขณะที่ คริสเทล ในวัยกว่า 50 ปี วันนี้ คือ เจ้าของธุรกิจสอนดำน้ำ BB Divers ที่บ้านบางเบ้า เกาะช้าง และธุรกิจดำเนินไปด้วยดี จึงขยายสาขาเปิดบริการให้นักดำน้ำที่เกาะกูด 2 แห่ง และเกาะหมาก 2 แห่ง เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำชาวต่างประเทศ

มองโอกาส สร้างงานท้องถิ่น

คริสเทนเล่าว่า ธุรกิจดำน้ำของ BB Divers ใช้หลักสูตรดำน้ำของสถาบัน PADI (Professional Association of Diving Instructors) ตั้งแต่หลักสูตรนักดำน้ำชั้นต้น นักดำน้ำชั้นสูง กู้ภัย และหลักสูตรการเป็นผู้ควบคุมการดำน้ำ หรือ Dive Master ที่สามารถเรียนต่อเป็นครูสอนดำน้ำ หรือ Diving Instructor ได้ เมื่อสำเร็จจะได้ใบรับรองจากสถาบัน ปัจจุบันมีครูสอนดำน้ำชาวต่างประเทศ 4-5 คน

สิ่งที่คริสเทลเน้น คือ การสร้างงานให้ท้องถิ่น ด้วยการฝึกสอนลูกเรือ 9 คน ที่เป็นคนท้องถิ่น ให้มีความรู้เรื่องดำน้ำ เพื่อเป็นผู้ช่วยไดฟ์มาสเตอร์ และพัฒนาไปสู่การเป็นไดฟ์มาสเตอร์ด้วย

 

การดำเนินธุรกิจดำน้ำ BB Divers จึงได้สร้างงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะลูกเรือเดิมมีรายได้เดือนละประมาณ 10,000 บาท ถ้าเป็นผู้ช่วยไดฟ์มาสเตอร์จะได้เงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท และไดฟ์มาสเตอร์ เดือนละ 30,000-40,000 บาท ตอนนี้มีเรียนอยู่ 2 คน เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นการลงทุนสูง ต้องใช้เวลา และต้องเลือกสร้างคนที่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งการดำน้ำ และภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส ดัตช์ รัสเซีย เยอรมัน จีน ที่สำคัญ ต้องเชื่อมั่นว่าเมื่อเรียนจบแล้ว จะทำงานอยู่กับเรา เพราะเป็นการเรียนที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย จากคอร์สที่เรียนไดฟ์มาสเตอร์ปกติใช้เวลา 3-6 สัปดาห์ เสียค่าใช้จ่าย 40,000 บาท

“โอกาสที่เด็ก ๆ ในท้องถิ่นที่เป็นลูกเรือทั่ว ๆ ไป หากพัฒนาตัวเองก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เพราะคนท้องถิ่นเรียนรู้วิถีชีวิตในทะเล รู้จักสภาพท้องทะเล ดิน ฟ้า อากาศ การใช้เรือดีอยู่แล้ว จะพัฒนาได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญ เงินเดือนของการเป็นลูกเรือกับผู้ช่วยไดฟ์มาสเตอร์ และไดฟ์มาสเตอร์ ต่างกันมาก จึงพยายามฝึกให้เด็กในท้องถิ่นพัฒนาตัวเอง เป็นครูผู้ช่วยไดฟ์มาสเตอร์ และไดฟ์มาสเตอร์ ซึ่งตลาดแรงงานยังเปิดกว้างอยู่ และเป็นอาชีพที่สามารถพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ถึงครูสอนดำน้ำ มีเงินเดือนสูงมาก ถ้ามีความสามารถ”

เรือช้างแหล่งฉลามวาฬ

ราว 5 ปีที่แล้ว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการวางเรือหลวงช้างที่ปลดระวางไปเมื่อปี 2548 เป็นเรือรบขนาดใหญ่ กว้าง 20 เมตร ยาว 110 เมตร และสูง 26 เมตร ภายในเรือมีห้องต่าง ๆ เหมาะกับการดำน้ำเพื่อหาประสบการณ์ ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริเวณรอบ ๆ เรือหลวงช้าง มีนักดำน้ำให้ความนิยมมาดำน้ำลึกจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีคลื่นลม น้ำใส เป็นแหล่งปลาอันอุดมสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของฝูงปลา มีปลาบางชนิด สัตว์น้ำหายาก เช่น ปลาแมงป่อง ปลาหิน เต่ามะเฟือง ที่ไม่เคยเห็นนานเป็น 10 ปี

ไฮไลต์คือ ฉลามวาฬ ขนาดลำตัวยาว 4-5 เมตร หมุนเวียนกันมาเยือนปีละ 5-6 ตัว นักดำน้ำต่างประเทศที่มาพบเจอจะโพสต์ภาพคู่ฉลามวาฬ เผยแพร่ภาพ ข้อความในโซเชียลมีเดีย ทำให้นักดำน้ำหลายคนอยากมาไล่ล่าถ่ายภาพกับฉลามวาฬเช่นกัน

สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำบริเวณเรือหลวงช้างในฤดูกาลท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเดือนตุลาคม 2557 ถึงเมษายน 2558 มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละประมาณ 30-60 คน รายได้ประมาณ 18.9 ล้านบาท เดือนตุลาคม 2558 ถึงเมษายน 2559 นักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละประมาณ 40-80 คน รายได้ประมาณ 25.2 ล้านบาท เดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนเมษายน 2560 นักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละประมาณ 50-100 คน รายได้ประมาณ 31.5 ล้านบาท โดยเฉลี่ย 3 ปีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30%

“ลูกค้าที่มาดำน้ำที่เรือหลวงช้าง จะดำแบบสกูบา ค่าใช้จ่ายไดฟ์ละ 3,000 บาท ปกติจะดำวันละ 1-2 ไดฟ์ บางคนดำสำรวจตามห้องต่าง ๆ หรือรอบ ๆ เรือถึง 3-4 ไดฟ์ทีเดียว บริษัทดำน้ำบนเกาะช้างที่มีอยู่ 4 บริษัท นักท่องเที่ยวที่เป็นนักดำน้ำส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย มีจีน เกาหลีบ้าง นักดำน้ำเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จะใช้จ่ายค่าที่พัก อาหาร และแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ ทำให้รายได้กระจายสู่ท้องถิ่น”

วอนหน่วยงานดูแล

คริสเทลบอกว่า ตั้งแต่มีการวางเรือ สภาพโดยรอบถูกทำลายไปมาก เนื่องจากเรือบางลำเข้าทอดสมอใกล้เรือ หรือบางลำผูกเชือกไว้กับเสากระโดงเรือ หากปล่อยไว้ไม่ดูแล โครงสร้างของเรือหลวงช้างที่ดูยิ่งใหญ่ มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อาจเลือนหายไป จึงอยากให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาเป็นศูนย์กลางประสานงานดูแลวางทุ่นจอดเรือ การทิ้งสมอเรือ การผูกเรือกับโครงสร้างต่าง ๆ ของเรือ ซึ่งบรรดาเรือที่ทำธุรกิจดำน้ำยินดีให้ความร่วมมือ

แม้จะเป็นคนต่างชาติต่างภาษา แต่มีความรักให้ท้องทะเลไทยไม่แพ้ใคร