เร่งสมาร์ทซิตี้ 10 จังหวัด 3.6 แสนล้าน เกาะเมกะโปรเจ็กต์นำร่องเมืองใหม่ “พหล-เชียงราก”-

“ไพรินทร์” สปีดโมเดล ปตท. จุดพลุเมกะโปรเจ็กต์สมาร์ทซิตี้ 10 จังหวัด ลงทุน 10 ปี กว่า 3.6 แสนล้าน เกาะแนวรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน อีอีซี นำร่อง “พหลโยธิน-เชียงรากน้อย” สร้างเมืองใหม่ที่อยู่อาศัยชั้นดี เล็งปั้นแหลมฉบังเมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับอีอีซี

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พร้อมจะช่วยผลักดันนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าโครงการ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ เหมือนที่ประเทศอื่น ๆ ใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนาประเทศมาแล้ว

ลุยเมืองอัจฉริยะเทียบ ตปท.

“ปัจจุบันนี้เกือบทุกประเทศ ไม่ว่ามาเลเซียก็มีสมาร์ทซิตี้ รัฐพยายามยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยสร้างเมืองตัวอย่างที่มีความก้าวหน้า ซึ่งสมาร์ทซิตี้มีหลายมิติ ทั้งประหยัดพลังงาน ไอที ระบบคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย ต้องเลือกจะสร้างสมาร์ทซิตี้รูปแบบไหน”

ในอดีต บมจ.ปตท. เคยเสนอผลศึกษาโครงการสมาร์ทซิตี้ต่อกระทรวงคมนาคมสมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่ามีแนวคิดจะพัฒนาและเสนอเมืองจะนำร่องอยู่หลายแห่ง เพื่อเป็นโมเดลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปเป็นต้นแบบพัฒนา

“ตอนนั้น ปตท.ศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี 10 หัวเมือง มีเงื่อนไขว่าการพัฒนาจะต้องอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟ มีระบบท่อก๊าซพลังงานเข้าถึงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายไพรินทร์กล่าวและว่า

นำร่องย่านพหล-เชียงรากน้อย

โดยพื้นที่ส่วนกลางเสนอย่านพหลโยธินและเชียงรากน้อย ที่เหลืออยู่ในหัวเมืองหลัก เช่น ขอนแก่น แต่ละพื้นที่จะมีจุดเด่นต่างกันไป เช่น เชียงรากน้อยเสนอเป็น Best Town หรือที่อยู่อาศัยชั้นดีที่คนเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ แบบเช้าไปเย็นกลับได้

ส่วนพหลโยธินจะเป็นศูนย์กลางของระบบคมนาคมขนส่งเพราะมีสถานีกลางบางซื่อที่มีความสำคัญเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางและถนน หากพัฒนาย่านบางซื่อ-พหลโยธินเป็นพื้นที่เดียวกัน เชื่อมโยงกับระบบคมนาคมสมัยใหม่ จะทำให้ประสิทธิภาพการคมนาคมในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นมหาศาล เหมือนต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น

“โอกาสกำลังจะเกิดขึ้นที่สถานีบางซื่อถ้าได้รับการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางใหม่ของระบบคมนาคมของประเทศได้ไม่ยาก ที่ผ่านมามีต่างชาติให้ความสนใจในพื้นที่ หลังมาดูพื้นที่จริงและเห็นศักยภาพ”

เปิดผลศึกษาสมาร์ทซิตี้ ปตท.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ปตท.เสนอผลศึกษาและแผนการลงทุนโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่สัมพันธ์กับระบบคมนาคมทางราง พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงใน 10 จังหวัดให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)พิจารณา เพื่อขอใช้พื้นที่รถไฟ ขณะนั้นบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาและมองว่าสอดคล้องกับแนวคิดของ ร.ฟ.ท.จะหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีรถไฟเป็นรายได้เสริม

โดย 10 พื้นที่ที่ ปตท.เสนอจะอยู่ในแนวรถไฟ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนที่มีศักยภาพ ใช้เวลาพัฒนา 10 -15 ปี ใช้เงินลงทุน 362,843 ล้านบาท เพื่อลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน คมนาคมขนส่ง และระบบสารสนเทศ

ประกอบด้วย 1.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานีรถไฟของสายสีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) และรถไฟความเร็วสูง พัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ประกอบด้วยย่านธุรกิจ การค้า บริการที่ทันสมัยและที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี เช่น การสื่อสารระบบไร้สาย เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้แผงโซลาร์เซลล์รองรับผู้ที่ทำงานในบริเวณพื้นที่และผู้ที่ทำงานในกรุงเทพฯและนิคมอุตสาหกรรม จ.ปทุมธานี และอยุธยา

2.พหลโยธิน เป็นพื้นที่ชุมทางของรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง จะพัฒนาพื้นที่พหลโยธินเป็นเมืองใหม่รอบสถานีรถไฟ มีการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานต่อยอดกับโครงการเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ของ ปตท.ในปัจจุบัน

อีกทั้งพัฒนาพื้นที่ติดสถานีกลางบางซื่อเป็นย่านธุรกิจการค้าและบริการ มีระบบบีอาร์ทีรองรับการเดินทางภายในพื้นที่โครงการ และพัฒนาพื้นที่ใหม่มีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงานและที่อยู่อาศัย

ปั้นแหลมฉบังรับอีอีซี

3.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ในเขตโครงการแหลมฉบังเมืองใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ต่อเนื่องกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือและย่านที่อยู่อาศัย

จะพัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแรงงานนานาชาติที่น่าอยู่ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะรองรับการเดินทาง มีจุดจอดรถโดยรอบสถานี และมีการพัฒนาพานิชยกรรม ศูนย์ชุมชน

4.ภูเก็ต เน้นพัฒนาเป็นย่านวิจัยและพัฒนารองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมหลักและย่านธุรกิจการเงินที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย 5.เชียงใหม่ สถานีปลายทางรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ จะพัฒนาเป็นย่านพาณิชย์และสำนักงานรองรับการท่องเที่ยว ย่านวิจัยและพัฒนารองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมดิจิทัลและย่านที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ

6.เด่นชัย พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเด่นชัยด้านทิศใต้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว มีอาคารพาณิชย์ สำนักงาน โรงแรม ส่วนด้านเหนือจะพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรภายในชุมชนเมืองเด่นชัย ต่อเนื่องกับการปรับปรุงฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรมและชุมชนเดิม และพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยชานเมือง รองรับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

7.หนองคาย การพัฒนาจะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน โดยพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟหนองคายจะพัฒนาเป็นพาณิชยกรรม สำนักงาน พร้อมขยายพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ ส่วนบริเวณสถานีนาทาจะเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าระบบตู้คอนเทรนเนอร์(CY) จากจีนและลาวเพื่อกระจายสินค้านำเข้าและส่งออก

ขอนแก่นฮับอีสาน

8.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและเมืองศูนย์กลางภาคอีสาน จะขยายพื้นที่พาณิชยกรรมของเมืองให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะรอบสถานีรถไฟขอนแก่นถึงถนนมิตรภาพ พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายระบบสัญจรและขยายที่อยู่อาศัยออกไปจนถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีบึงแก่นนครเป็นพื้นที่สีเขียวและนันทนาการหลัก

9.แก่งคอย จะเป็นย่านโลจิสติกส์ มีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) มีพัฒนาพาณิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟแก่งคอยและพื้นที่เมืองเดิม รวมถึงพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้เชื่อมกับ ICD บริเวณติดถนนมิตรภาพ และเพิ่มแนวถนนสายรองให้เชื่อมต่อกับย่านอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ พื้นที่ ICD เพราะเป็นแหล่งงานที่สำคัญ

และ 10.คลองหลวง พัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯโดยรถไฟ ภายในพื้นที่มีพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมพื้นที่อยู่อาศัยไปยังสถานีเชียงรากและย่านพาณิชยกรรม สถานศึกษา ที่อยู่อาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากผลประเมินทั้ง 10 จังหวัด พบว่า 10 ปีแรก เมืองที่มีศักยภาพจะนำร่อง คือ พหลโยธิน เพราะเหมาะสมทุกด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน และการบริหารจัดการ จากนั้นเป็นที่เชียงรากน้อย แหลมฉบังและภูเก็ต ส่วนคลองหลวง เชียงใหม่ เด่นชัย ขอนแก่น หนองคายและแก่งคอย จะเป็นช่วง 5-15 ปี