เคลียร์ปมพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดเทรนจีนคร่อมบนสุด-

คมนาคมเร่งเคลียร์ปมพื้นที่ทับซ้อนวางรางไฮสปีดเทรนสายเหนือ-อีสาน รัศมีสถานีวัดเสมียนนารี-หลักหก ระยะทาง 15 กม. เล็งขึ้นโครงสร้างยกระดับสูง 3 ชั้น แบ่ง “จีน-ญี่ปุ่น” อยู่คนละชั้น ส่วนช่วงหลักหก-บ้านภาชี เวนคืนที่ดินเพิ่ม ด้านกรมทางหลวงพร้อมสุด ๆ เนรมิตเฟสแรก 3.5 กม. รับดีเดย์ตอกเข็ม 21 ธ.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีข้อสรุปเบื้องต้นการแก้ปัญหาพื้นที่เขตทางรถไฟไม่พอสำหรับก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และไทย-ญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) จะมีพื้นที่วางรางทับซ้อนกันช่วงสถานีบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี รวมระยะทาง 81.8 กม.

เนื่องจากทั้งจีนและญี่ปุ่นไม่ต้องการใช้รางร่วมกัน (แชร์แทร็ก) เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นคนละระบบกัน แม้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีข้อเสนอให้ใช้รางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมืองแล้วก็ตาม

“พิจารณาแล้ว พื้นที่จะแน่นช่วงสถานีวัดเสมียนนารีถึงสถานีหลักหก มีระยะทางประมาณ 15 กม. วิธีการคือจะสร้างโครงสร้างยกระดับเหมือนโครงสร้างทางด่วนสูง 3 ชั้น แบ่งให้ระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนและระบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่นอยู่คนละชั้น ให้ระบบจีนอยู่ชั้นบนสุดเพราะสร้างก่อน ส่วนชั้น 2 เป็นระบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่น และด้านล่างระดับพื้นที่ดินจะเป็นรถไฟสายสีแดงและรถไฟทางไกล ซึ่งจะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งการรถไฟฯจะต้องไปทำรายละเอียดถึงจะสรุปวงเงินที่เพิ่มขึ้นได้”

รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวงเงินก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนี้จะเป็นของโครงการที่ก่อสร้างภายหลัง ซึ่งขณะนี้รถไฟไทย-จีนมีความชัดเจนจะเริ่มก่อสร้างวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ฉะนั้นไม่ต้องรับภาระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นวงเงินที่เพิ่มขึ้นจะต้องไปรวมอยู่กับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เนื่องจากก่อสร้างภายหลัง

“ส่วนพื้นที่ทับซ้อนจากสถานีหลักหกไปถึงภาชี จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่ม เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการสร้างแยกรางกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน”

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รอการส่งมอบพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อสร้างรถไฟไทย-จีนเฟสแรก สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. คาดว่าไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค.นี้ กรมจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ ขณะนี้ก็เริ่มทยอยนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาสร้าง 6 เดือน หรือแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2561 เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างคันดินอย่างเดียว ยังไม่เกี่ยวกับงานวางรางจึงใช้เวลาไม่มาก

สำหรับวัสดุก่อสร้างที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศเป็นหลัก ยกเว้นแผ่นเจลเหล็กที่จะต้องนำเข้าจากจีน เนื่องจากใช้ระบบรถไฟของจีน แต่สัดส่วนไม่มาก และราคาไม่แพง เฉลี่ย 120 บาท/ตร.ม. รวม 3.5 กม. คิดเป็นวงเงินประมาณ 12 ล้านบาท


อนึ่ง รถไฟไทย-จีน มีระยะทางรวม 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 4 เฟส ได้แก่ ช่วงที่1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และช่วงที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม. โดยจีนจะทยอยส่งแบบรายละเอียดช่วงที่ 2-4 ภายใน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ทยอยเปิดประมูลแบบอีบิดดิ้ง วงเงินรวม 122,593.92 ล้านบาท แบ่ง 14 สัญญา ๆ ละ 8,000-10,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้รับเหมาไทยทั้งงานถนน อุโมงค์และรถไฟฟ้า เข้าร่วมประมูลได้ทุกสัญญา คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาครบปลายปี 2561 ใช้เวลาสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2564